เศียรพระพรหมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
           เศียรพระพรหมปูนปั้นประดับศาสนสถาน ได้จากวัดพระแก้ว กลางเมืองกำแพงเพชร ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างยาว แสดงให้เห็นเพียงสามพักตร์ สวมกระบังหน้า พระขนงโกงต่อกันเหนือสันพระนาสิก พระเนตรเบิกโต พระโอษฐ์บางอมยิ้มเล็กน้อย
           พระพรหมเป็นเทพสำคัญหนึ่งในสามองค์ของศาสนาฮินดูที่เรียกว่า ตรีมูรติ ซึ่งประกอบไปด้วยพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ แต่ในคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนานั้น พระพรหมถือเป็นเทวดาองค์หนึ่งที่สถิตบนสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่าชั้นพรหม (พรหมภูมิ) ซึ่งอยู่สูงกว่าเทวดาทั่วไป พระพรหมยังคงมีการเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในกามาวจรภพ
           พุทธศาสนาได้แบ่งพระพรหมออกเป็น ๒ ประเภท คือ พรหมที่มีรูป เรียกว่า "รูปพรหม" มีทั้งหมด ๑๖ ชั้น และพรหมที่ไม่มีรูป เรียกว่า "อรูปพรหม" มีทั้งหมด ๔ ชั้น โดยอรูปพรหมจะสูงกว่ารูปพรหม พระพรหมได้ปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาอยู่หลายครั้งทั้งชาดกและพุทธประวัติ ซึ่งเรื่องราวตอนสำคัญที่พบในงานศิลปกรรม คือ พุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์หลังจากเทศนาโปรดพุทธมารดา โดยพระพรหมได้ตามเสด็จลงมาทางบันไดแก้วที่อยู่ทางซ้ายของพระพุทธเจ้า ดังปรากฏเป็นภาพปูนปั้นเล่าเรื่องที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง เมืองเก่าสุโขทัย








-------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
-------------------------------------------------------------

บรรณานุกรม กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 1864 ครั้ง)

Messenger