ไม้และเมล็ดพืชที่พบร่วมกับฐานสิ่งก่อสร้างอิฐจากการขุดค้นที่คลองคูเมืองเดิม (คลองบ้านขมิ้น)
ไม้และเมล็ดพืชที่พบร่วมกับฐานสิ่งก่อสร้างอิฐจากการขุดค้นที่คลองคูเมืองเดิม (คลองบ้านขมิ้น) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
          จากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่คลองคูเมืองเดิม(คลองบ้านขมิ้น) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ ได้พบหลักฐานสำคัญ คือ ฐานสิ่งก่อสร้างอิฐที่อยู่บนฝั่งตะวันออกและตะวันตกของคลอง ซึ่งสามารถกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์จากตัวอย่างอิฐพบว่า มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๕ ฐานสิ่งก่อสร้างอิฐดังกล่าวมีการปักเสาไม้ขนาบเป็นแนว และการวางลำต้นของพืช และแผ่นไม้แทรกในชั้นการเรียงตัวของอิฐในลักษณะการเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างฐานสิ่งก่อสร้างอิฐนั้น จึงมีการนำส่งตัวอย่างไม้และเมล็ดพืชที่พบให้กรมป่าไม้ทำการวิเคราะห์ จำนวน ๑๑ ตัวอย่าง
          ผลการวิเคราะห์พบว่า เสาไม้ที่ใช้ในการปักขนาบส่วนฐานสิ่งก่อสร้างอิฐ เป็นไม้ราชพฤกษ์(Cassia sp.) กระบก(Irvingia malayana Oliv. Ex A.Benn.)และไม้ยืนต้นซึ่งไม่สามารถระบุชื่อทางพฤกษศาสตร์ ส่วนลำต้นของพืชและแผ่นไม้ที่วางแทรกในชั้นการเรียงตัวของอิฐ แบ่งเป็นพืชหลายประเภท ได้แก่ ท่อนลำต้นของไม้สกุลไม้ราชพฤกษ์ (Cassia sp.) ตาล (Borassus sp.) และแผ่นไม้สัก (Tectona grandis L.f) ส่วนเมล็ดพืช ได้แก่ เมล็ดต้นหูกวาง (Terminalia catappa L.) เมล็ดของไม้วงศ์มะเกลือ(Diospyros sp.) ด้วยตัวอย่างที่มีจำกัดนี้ ทำให้ไม่สามารถระบุได้ถึงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในอดีตของบริเวณคลองคูเมืองเดิม (คลองบ้านขมิ้น)ได้แน่ชัด แต่มีข้อน่าสังเกตว่า การเลือกใช้ไม้สักในการก่อสร้างนับแต่อดีต เป็นภูมิปัญญาของคนไทยในการเลือกประเภทไม้ที่คงทนต่อการฝังอยู่ใต้ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยยังพบการใช้เสาเข็มไม้สักปักแทรกเป็นระยะในชั้นอิฐผสมปูนตำก่อนชั้นอิฐของส่วนฐานรากอาคารสิ่งก่อสร้างที่ขุดค้นพบบริเวณสนามด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล(วังหน้า) ซึ่งปัจจุบัน คือ พื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร























----------------------------------
ที่มาของข้อมูล : กองโบราณคดี
----------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 1480 ครั้ง)