แหวน ....เป็นเครื่องประดับยอดนิยมของผู้คนทุกเพศทุกวัยในสมัยนี้ มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกซื้อได้อย่างง่ายดาย แล้วคนสมัยโบราณเขาประดับนิ้วด้วยแหวนแบบไหน และสวมกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
          เมื่อราว ๓,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ชาวอียิปต์โบราณสวมแหวนที่พัฒนารูปแบบมาจากตราประทับ (seal signet) ที่ชนชั้นผู้นำสวมเพื่อแสดงถึงอำนาจ สถานภาพ ฐานะทางสังคม และใช้ประทับตราในเอกสารสำคัญเพื่อยืนยันตัวตน เปรียบเสมือนลายเซนต์ในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อแหวนกลายเป็นเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม ผู้หญิงชาวอียิปต์จึงนิยมสวมแหวนประดับหลายนิ้วๆละหลายวง และในราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชาวโรมันโบราณก็รับความนิยมการสวมแหวนมาจากอียิปต์ โดยกำหนดว่าชนชั้นสูงสวมแหวนทองคำ สามัญชนสวมแหวนเหล็ก ภายหลังแหวนทองคำได้แพร่หลายในทุกชนชั้น ยกเว้นทาสที่สวมเฉพาะแหวนเหล็กเท่านั้น
          ชาวโรมันโบราณมีแหวนพิเศษชนิดหนึ่ง เรียกว่า แหวนกุญแจ นอกจากรูปลักษณ์ที่เก๋ไก๋แล้วยังมีประโยชน์ใช้สอย คือตัวเรือนเชื่อมติดกับลูกกุญแจกล่องนิรภัยที่ใช้เก็บของมีค่า การสวมแหวนจึงเป็นการเก็บรักษากุญแจไว้กับตัวตลอดเวลา และยังแสดงถึงความมั่งคั่งของผู้สวมว่ามีทรัพย์สินเครื่องประดับมีค่าที่ต้องเก็บรักษาอย่างดีอีกด้วย
   
แหวนกุญแจ โรมันโบราณ

          ในประเทศไทยเราพบหลักฐานการใช้แหวนรุ่นแรกๆ ในหลุมฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ตอนปลาย อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นแหวนวัสดุธรรมชาติทำจากเปลือกหอยที่มีความบางมาก พบสวมที่นิ้วมือโครงกระดูกจำนวน ๘ วง และพบที่แหล่งร่วมสมัยอีกแห่งคือแหล่งโบราณคดีโคกเจริญ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี


แหวนเปลือกหอย แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค จังหวัดลพบุรี อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว

          ต่อมาเมื่อคนก่อนประวัติศาสตร์รู้จักนำโลหะมาผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ พวกเขาก็เริ่มทำเครื่องประดับโลหะด้วย มีทั้งกำไล ห่วงคอ ห่วงเอว รวมทั้งแหวน ชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงระหว่าง ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว นิยมใช้ แหวนสำริด กันอย่างแพร่หลาย ในพิธีกรรมการฝังศพพบว่าส่วนใหญ่สวมไว้กับโครงกระดูกผู้ใหญ่ทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนเด็กและทารกมักเป็นการวางแหวนอุทิศให้ แหวนวัสดุอื่นมีพบบ้าง เช่น แหวนเหล็ก แหวนทองแดง แหวนโลหะผสม(สำริดกับเหล็ก) แหวนเงิน เป็นต้น


   
โครงกระดูกเพศชาย สวมแหวนสำริด ที่นิ้วชี้ นิ้วนางข้างซ้าย และนิ้วชี้ข้างขวา นิ้วละ ๕ วง และแม่พิมพ์แหวน แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุ ๒,๕๐๐ -๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว

   
โครงกระดูกเพศชาย สวมแหวนสำริดที่นิ้วมือข้างซ้าย ๖๕ วง และนิ้วมือข้างขวา ๕๙ วง เป็นโครงที่พบสวมแหวนสำริดมากที่สุดในแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุ ๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว


   


          ชุมชนโบราณเนินอุโลกนี้ นิยมใช้แหวนสำริดมาก พบร่วมกับโครงกระดูกถึง ๔๘๑ วง ส่วนใหญ่เป็นแหวนสำริดแบบเรียบ แบบและวัสดุอื่นพบบ้าง ได้แก่ แหวนแบบมีหัวแหวนประดับ แหวนโลหะผสม(สำริดผสมเหล็ก) และ แหวนเงิน 
          นอกจากการสวมแหวนประดับเพื่อความสวยงามแล้ว ที่แหล่งโบราณคดีสมัยเหล็กในเขตอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุราว ๒,๕๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบการใช้แหวนในพิธีกรรมการฝังศพอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การใส่แหวนไว้ในปากผู้ตาย พิธีกรรมใส่เครื่องประดับอุทิศไว้ในปากผู้ตายนี้ พบในแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยอื่นด้วย เช่นการใส่ลูกปัดหินอาเกตไว้ในปากผู้ตาย ที่แหล่งโบราณคดีโนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
---------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : ศิริพันธ์ ตาบเพ็ชร์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กองโบราณคดี

---------------------------------------------

(จำนวนผู้เข้าชม 3383 ครั้ง)

Messenger