เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ต้นฉบับหนังสือสมุดไทยสมัยอยุธยา นันโทปนันทสูตรคำหลวง
ต้นฉบับหนังสือสมุดไทย เรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง หมวดตำราภาพ เลขที่ ๒๐
ภาพแสดงเส้นสีของตัวอักษรแต่ละชนิดตามฐานะของข้อมูล
หนังสือต้นฉบับสมุดไทยสมัยอยุธยา นันโทปนันทสูตรคำหลวง จัดพิมพ์โดย สำนักหอสมุดแห่งชาติ
เอกสารโบราณ เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง นี้เป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ( เจ้าฟ้ากุ้ง ) ได้ทรงพระนิพนธ์เมื่อพุทธศักราช ๒๒๗๙ จากคัมภีร์นันโทปนันทปกรณ์ที่พระพุทธสิริแต่งเป็นภาษาบาลีไว้ ตัวต้นฉบับเอกสารโบราณเป็นหนังสือสมุดไทยขาวได้มาจาก ขุนวิทูรดรุณากร กรมศึกษาธิการ ทูลเกล้าฯ ถวายให้หอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งปัจจุบันคือ หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๕๑ หนังสือสมุดไทยเรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ จากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
นันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นวรรณคดีคำหลวงที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรทรงพระนิพนธ์โดยยกข้อความภาษาบาลีขึ้นก่อนแล้วแปลเป็นภาษาไทยที่ไพเราะงดงามสลับกันไปตลอดทั้งเรื่อง ข้อความภาษาไทยเก็บจากข้อความบาลีไว้เกือบทุกคาถา
วรรณคดีเรื่องนี้นอกจากจะเป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาที่มีคุณค่าเกี่ยวกับหลักธรรมแล้วยังมีคุณค่าด้านต่าง ๆ อีกหลายประการ คือ
๑. มีความเป็นต้นฉบับหลวงที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาด้วยปัจจัยหลายประการ ได้แก่
- บอกพระนามผู้ทรงนิพนธ์และวันเดือนปีที่ทรงนิพนธ์แล้วเสร็จ พร้อมประวัติความเป็นมาของ เนื้อเรื่อง
- บอกนามอาลักษณ์ผู้ชุบเส้นตัวอักษรทั้ง ๒ แบบ
- ต้นฉบับเล่มนี้บันทึกเนื้อหาเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวงเพียงเรื่องเดียว
- บันทึกเนื้อหาเรื่องราวหน้าละ ๔ – ๖ บรรทัด อย่างเป็นระเบียบสวยงามด้วยตัวอักษรไทยแบบ ประดิษฐ์ ตามความนิยมในสมัยอยุธยาเรียกว่า อักษรไทยย่อ ซึ่งอักษรไทยย่อที่ปรากฎใน เอกสารฉบับนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นอักษรไทยย่อที่งดงามที่สุดฉบับหนึ่ง ซึ่งเมื่อนับอายุถึง ปัจจุบัน (๒๕๖๓) มีอายุได้ ๒๘๕ ปีแล้ว
๒. การลงสีเส้นตัวอักษรสะท้อนทัศนคติและความนับถือพุทธศาสนาอย่างแรงกล้ากล่าวคือ มีวิธีการลงเส้นสีตัวอักษรให้ต่างกันตามความสำคัญของเนื้อหาแต่ละตอน
เส้นทอง
ใช้บันทึกพระนามบุคคลสำคัญ เช่น เมื่อเอ่ยอ้างถึงพระพุทธเจ้า และพระนามผู้ทรงนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร ไชยเชษฐสุริวงษ
เส้นชาด
ใช้บันทึกคาถาอักษรขอมภาษาบาลีทั้งหมด
เส้นหมึก
ใช้บันทึกเนื้อหาเรื่องราวที่เป็นภาษาไทยด้วยอักษรไทยย่อ
๓. มีบันทึกจดหมายเหตุแสดงภูมิปัญญาในการเตรียมต้นฉบับของช่างเขียนในสมัยอยุธยาก่อนบันทึกข้อความ โดยบอกนามเจ้าของสูตรไว้ด้วย ซึ่งหลักฐานนี้ไม่เคยปรากฏอยู่ในต้นฉบับวรรณกรรมเรื่องใด ๆ ของสังคมไทยทั้งสิ้น
๔. อักษรและอักขรวิธีของอักษรไทยย่อในสมุดไทยเรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวงฉบับนี้พบว่ามีพยัญชนะไทยครบทั้ง ๔๔ ตัวเป็นครั้งแรก
เรื่องย่อนันโทปนันทสูตรคำหลวงกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในกรุง ราชคฤห์ เย็นวันหนึ่ง มีมหาเศรษฐี ชื่อ อนาถบิณฑิกะมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวก ๕๐๐ องค์ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระบรมศาสดารับอาราธนาแล้วก็ประทับอยู่ ณ พระวิหารจนสิ้นราตรี ครั้นเวลาใกล้รุ่งพระพุทธเจ้าทรงตรวจดูโลกธาตุและทราบโดยพระญาณว่าพระยานันโทปนันท นาคราช ควรจะได้รับรสพระธรรม ด้วยพระยานาคราชตนนี้ได้เคยสร้างกุศลไว้ในชาติก่อน แต่พระยา นันโทปนันทนี้ยังมีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ แต่ก็สามารถที่จะสั่งสอนให้เข้าถึงพระรัตนตรัยได้ พระบรมศาสดาทรงพิจารณาเห็นว่าพระโมคคัลลานะอัครสาวกเบื้องซ้าย มีฤทธิ์อาจทรมานพระยานาคราชตนนี้ให้ละพยศเสียได้ ดังนั้นพอรุ่งเช้าพระพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาแก่พระอานนท์ว่าจะเสด็จไปยังเทวโลก พระอานนท์และพระสาวกจึงเตรียมตามเสด็จด้วย พระพุทธองค์และพระสาวกได้เหาะไปเหนือวิมานของพระยานันโทปนันท พระยานาคราชแลเห็นว่าพระพุทธเจ้าและพระสาวกจะเหาะมาเหนือปราสาทของตน ฝุ่นใต้เท้าก็จะเรี่ยรายลงมา ก็โกรธบังเกิดมิจฉาทิฐิ สำคัญตนว่าเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่ จึงแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการจำแลงกายเป็นนาคราชใหญ่พันเขาพระสุเมรุไว้เจ็ดรอบและแผ่พังพานบังโลกธาตุจนมืดมิดเพื่อขวางทางไม่ให้พระพุทธเจ้าเสด็จผ่าน พระสาวกองค์ต่างๆ ทูลขอเป็นผู้ปราบพญานันโทปนันทะ แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต ทรงให้เฉพาะพระโมคคัลลานะเท่านั้นเป็นผู้ไปปราบ จึงเกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่างพญานันโทปนันทะและพระโมคคัลลานะ ในที่สุดพญานาคราชก็มิอาจสู้ได้ จึงยอมจำนนและละมิจฉาทิฐิ เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและถือเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นางศิวพร เฉลิมศรี นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
------------------------------------------
(จำนวนผู้เข้าชม 14008 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน