เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
หน้าบันศาลาตรีมุขวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
ศาลาตรีมุข ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระวิหารหลวง (ภาพที่ ๑) เป็นศาลาโถงที่ตั้งคร่อมบนแนวกำแพงแก้ว ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีความผสมผสานกันระหว่างแบบประเพณีนิยมและแบบพระราชนิยม กล่าวคือ ส่วนหลังคาเป็นแบบประเพณีนิยม เช่นเดียวกับวัดทั่วไปที่เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเครื่องไม้สลักปิดทองประดับกระจก ส่วนตัวอาคารเป็นแบบพระราชนิยมใน เนื่องจากมีการใช้เสาสี่เหลี่ยมทำนองเดียวกับเสาพาไลรับน้ำหนักผืนหลังคา (ภาพที่ ๒) ความน่าสนใจของโบราณสถานหลังนี้อยู่ที่ลวดลายบนหน้าบัน ที่สลักเป็นรูปเทพบุตร ประทับยืนภายในเรือนแก้ว พระหัตถ์ทั้งสองถือสมุดข้างละหนึ่งเล่ม (ภาพที่ ๓) รูปเทพบุตรนี้นำแบบอย่างมาจาก “ตราพระสุภาวดี” (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, ๒๕๕๓ : ๙๓) ตราประจำตำแหน่งเจ้ากรมพระสุรัสวดี ผู้ทำหน้าที่รักษาทะเบียนหางว่าวบัญชีไพร่พล ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือนในกรุงและหัวเมือง (สำราญ ถาวรายุศม์, ๒๕๑๓ : ๑๑) รูปสลักพระสุภาวดีบนหน้าบัน สันนิษฐานว่าสื่อความหมายถึง ราชทินนามของผู้สร้างวัดกัลยาณมิตรฯ ซึ่งก็คือ พระยาราชสุภาวดี (โต) เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ราชทินนามเดิมของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ในสมัยรัชกาลที่ ๓
จากการตรวจสอบเอกสารเก่า ไม่พบประวัติปีการก่อสร้างศาลาตรีมุขที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามผู้เขียนสันนิษฐานว่า ศาลาตรีมุขคงสร้างขึ้นในระยะแรกของการก่อสร้างวัด คราวเดียวกันกับการก่อสร้างพระวิหารหลวง ราวปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เนื่องจาก
๑. ภาพสลักรูปพระสุภาวดีบนหน้าบันศาลาตรีมุข สื่อความหมายถึง พระยาราชสุภาวดี ราชทินนามเดิมของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ที่ได้รับพระราชทานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาล (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, ๒๕๔๕ : ๕๖)
๒. เมื่อพิจารณาแผนผังของวัดกัลยาณมิตรฯแล้ว ตำแหน่งที่ตั้งของศาลาตรีมุข สัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางของเขตพุทธาวาส อันมีวิหารหลวงเป็นอาคารประธาน มุขหน้าของศาลาหันไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นด้านหน้าของวัด รับกับศาลาจตุรมุขหรือสะพานท่าฉนวนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นหมายความว่า ศาลาตรีมุขน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการวางผังกลุ่มอาคารหลักของวัดซึ่งมีพระวิหารหลวงเป็นอาคารประธาน (ภาพที่ ๔)
---------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : นายณัฐพงศ์ ศิริวัฒนพิเชษฐ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน กองโบราณคดี
---------------------------------
บรรณานุกรม
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม ๓. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป, ๒๕๕๓. สำราญ ถาวรายุศม์ (บรรณาธิการ). “พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน.” ใน วารสารข้าราชการ. ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๖ (มิถุนายน ๒๕๑๓). พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๕. พระมหาเฮง (เรียบเรียง). ประวัติวัดกัลยาณมิตร. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระวินัยกิจโกศล (ตรี) กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, ๒๔๙๐.
(จำนวนผู้เข้าชม 2269 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน