เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้
หลักฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้ของประเทศไทย ตอน ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในภาคใต้
พบหลักฐาน ๒ ลิทธิหลัก คือ ๑. ไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด ๒. ไศวนิกาย นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด รวมทั้งยังพบลัทธิคาณปัตยะ (คาณปัถยัม) ซึ่งนับถือพระคเณศเป็นเทพองค์สำคัญที่สุด และลัทธิเสาระ ซึ่งนับถือพระสุริยะเป็นเทพเจ้าสูงสุด อีกด้วย
- ไวษณพนิกาย (Vaishnavism)
ชื่อลัทธิดัดแปลงมาจากชื่อพระวิษณุซึ่งเดิมเป็นชื่อเทพแห่งสวรรค์ในศาสนายุคพระเวท (เทพแห่งพระอาทิตย์) คำว่าไวษณพปรากฏในคัมภีร์มหาภารตะ หมายถึง ชื่อที่รู้จักกันในนามต่างๆ คือ สูริ สุหฤต ภควตะ สัตตวตะ ปัญจกาลวิธ เอกานติกะ ตันมายะ และปาญจราตริกะ แต่ที่นิยมใช้คือ ภควตา เดิมราว พ.ศ. ๓๐๐ ศาสนาภควตาเริ่มเป็นที่สนใจของประชาชนแต่ยังไม่กว้างอยู่ในเมืองมถุราและเมืองใกล้เคียงต่อมาเริ่มแผ่ขยายไปทางทิศตะวันตกและทางเหนือของเดดข่าน ราว พ.ศ.๔๐๐ ต่อมามีหลักฐานจารึกหลายแห่งที่มีอายุก่อนคริสตกาลบรรยายความเกี่ยวข้องระหว่างวสุเทวะ ครุฑ กฤษณะ นารายณะ และก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ กล่าวได้ว่าศาสนาภควตาวิวัฒนาการจากลัทธิเล็กๆ ที่นับถือในกลุ่มท้องถิ่นมาสู่ลัทธิใหญ่และกลายเป็นลัทธิสำคัญของศาสนาฮินดู
ภาพ : พระวิษณุ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เดิมอยู่ที่หอพระนารายณ์ ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
- ไศวนิกาย (Saivism)
มีประวัติเก่าแก่กว่าไวษณพนิกาย อาจเก่าแก่ลงไปถึงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ โดยพบตราประทับมีรูปเทพนั่งขัดสมาธิอยู่ท่ามกลางสัตว์ป่า ซึ่งจอห์น มาร์แชลสันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของพระศิวะ รวมทั้งมีการพบลึงค์หินซึ่งในสมัยประวัติศาสตร์ลึงค์มีความสัมพันธ์กับการบูชาพระศิวะโดยกลายเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ ในรามายณะมีข้อความหลายตอนที่กล่าวถึงพระศิวะในชื่อต่างๆ เช่น ศิติกัณฐ์ มหาเทวะ รุทร ปศุปติ ศังการะ อิศานะ เป็นต้น ไศวนิกายแผ่ขยายไปและเป็นที่รู้จักดีในอินเดียใต้
ภาพ : ศิวลึงค์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ได้จากบ้านนายพริ่ง อาจหาร หมู่ ๗ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศาสนาพราพมณ์-ฮินดู พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
- ลัทธิคาณปัตยะ (คาณปัถยัม)
นับถือพระคเณศ หรือ พิฆเนศวร์ ซึ่งเป็นเทพแห่งอุปสรรคและสิ่งกีดขวางทั้งปวง สามารถกีดขวางมนุษย์ เทวดา และมารร้ายต่างๆ ได้ และในขณะเดียวกันก็สามารถกำจัดเครื่องกีดขวางทั้งปวงได้ กำเนิดของพระคเณศมีบอกไว้ในคัมภีร์แตกต่างกันไป คัมภีร์ที่นิยมได้แก่ ลิงคปุราณะ ศิวปุราณะ มัสยาปุราณะ วราหปุราณะ และสกัณฑปุราณะ
- ลัทธิเสาระ
นับถือพระสุริยะเป็นเทพเจ้าสูงสุด แม้ว่าการบูชาเทพแห่งแสงอาทิตย์จะปรากฏในอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เทพสุริยะยังไม่ได้รับการยกย่องมากนัก จนกระทั่งได้รับอิทธิพลจากอิหร่านในสมัยราชวงศ์กุษาณะ (พุทธศตวรรษที่ ๔-๗) โดยปุราณะกล่าวว่าลัทธินี้เข้ามาโดยนักบวชชาวอิหร่าน (ชาวซิเถียน) ซึ่งนักบวชเหล่านี้จะมีสายรัดเอวที่เรียกว่า อวยังคะ หมายถึงเข็มขัดศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาผู้นับถือพระอาทิตย์ (โซโรอัสเตรียน) มีความหมายเท่ากับสายธุรำหรือสายยัชโญปวีตของพราหมณ์ ถือได้ลัทธิเสาระเป็นลัทธิที่รุ่งเรืองมากในอินเดียสมัยหลังคุปตะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔)
----------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
----------------------------------------------------
อ้างอิง :
- ผาสุข อินทราวุธ. รูปเคารพในศาสนาฮินดู. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์, ๒๕๒๒. - ผาสุข อินทราวุธ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์. “พระสุริยะในภาคใต้”, สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๖. กรุงเทพฯ : สถาบันทักษิณคดีศึกษา. ๒๕๒๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 17343 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน