ลูกปัดแบบมีตามีแหล่งผลิตในแถบเมดิเตอร์เรเนียนในอาณาจักรกรีก โรมัน และเปอร์เซีย (ตั้งแต่ช่วง ๓๐๐ ปีก่อนพุทธศตวรรษ - พุทธศตวรรษที่ ๖) ลูกปัดแบบมีตาที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในพื้นที่คาบสมุทรอนาโตเลีย มีอายุถึง ๕๐๐-๓๐๐ ปีก่อนพุทธศตวรรษ และได้พบลูกปัดรูปแบบนี้ในอินเดียซึ่งพบมากในภาคเหนือและภาคกลางในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓ – ๗ เมืองโบราณของอินเดียที่พบลูกปัดมีตา คือ ตักศิลา อุชเชนศราวัสติ โกสัมภี และโกณฑิณยปุระ เป็นต้น ลูกปัดมีตาที่พบในอินเดียแสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายกับกรีก-โรมัน เปอร์เชีย สำหรับในประเทศไทยได้พบลูกปัดมีตาในแหล่งโบราณคดีสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ซึ่งมีอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ โดยมักจะพบร่วมกับลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกต และยังพบในเมืองท่าโบราณทางภาคใต้ที่แหล่งโบราณคดีคลองท่อม (ควนลูกปัด) จังหวัดกระบี่ แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก (เหมืองทอง) จังหวัดพังงา และแหลมโพธิ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
          สำหรับลูกปัดมีตาซึ่งเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง พบที่แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเป็นเมืองท่าโบราณในฝั่งอันดามัน เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๖ และยังพบลูกปัดมีตาในฝั่งอ่าวไทยที่แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานีซึ่งเป็นเมืองท่าที่เจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ ลูกปัดมีตาจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อระหว่างเมืองท่าโบราณในภาคใต้และเมืองท่าของอินเดียซึ่งมีมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๓–๕ รวมถึงในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๖












-----------------------------------

จัดทำข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

ที่มาข้อมูล :
ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ลูกปัดต่างชาติในแหล่งโบราณคดีไทย,” ศิลปากรปีที่ ๓๓, ฉบับที่ ๑ (มีนาคม - เมษายน ๒๕๓๒):, ๑๔-๑๕. ผาสุข อินทราวุธ. สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี, กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์, ๒๕๔๘. บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ. ทุ่งตึก เมืองท่าการค้าโบราณ. กรุงเทพ : บริษัท สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, ๒๕๕๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 4995 ครั้ง)

Messenger