เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
วี.ไอ.พี. ยุคก่อนประวัติศาสตร์
V.I.P. ย่อมาจาก very important person คือ บุคคลสำคัญ บุคคลพิเศษ หรือที่สมัยนี้นิยมเรียกกันว่า เซเล็บ (celebrity) มี วี.ไอ.พี.ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยด้วยหรือ รู้ได้อย่างไรว่าเขาหรือเธอเป็นบุคคลพิเศษ เมื่อนักโบราณคดีขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่เป็นแหล่งฝังศพ มักมีโครงกระดูกที่พบหลักฐาน เช่น สิ่งของอุทิศในพิธีกรรมการฝังศพ เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ที่มีปริมาณและความหลากหลายแตกต่างจากโครงกระดูกอื่นๆในแหล่งเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด หลักฐานเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น วี.ไอ.พี. หรือบุคคลสำคัญที่มีฐานะ สถานะพิเศษในชุมชนที่ผู้ทำพิธีฝังศพยอมรับ หรือมีความผูกพัน แสดงออกด้วยการมอบสิ่งของอุทิศจำนวนมาก หายาก และมีค่าให้กับผู้ตาย
ในสมัยหินใหม่มีตัวอย่าง วี.ไอ.พี. หรือบุคคลสำคัญที่แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นเพศหญิง ตายเมื่ออายุ ๓๕ ปี กำหนดอายุประมาณ ๓,๖๐๐ ปีมาแล้ว หลุมศพของเธอมีขนาดใหญ่ ร่างกายตกแต่งด้วยเครื่องประดับจำนวนมากอย่างหรูหรา จนได้รับการขนานนามว่า “เจ้าแม่โคกพนมดี” เป็นโครงกระดูกที่แสดงถึงความร่ำรวยที่สุดในแหล่ง จากลักษณะของกระดูกแสดงว่าเมื่อยังมีชีวิตเป็นคนที่ทำกิจกรรมที่ใช้แขนท่อนล่างและมือมาก ประกอบกับสิ่งของในหลุมฝังศพเป็นอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับการทำภาชนะดินเผา ได้แก่ หินดุ หินขัดภาชนะ และแท่งดินเหนียวดิบจำนวนมากวางสุมทับลำตัวเป็นกองสูงมีภาชนะดินเผาทุบแตกวางไว้ด้านบน ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นช่างปั้นภาชนะดินเผาหญิงที่มีความสำคัญมากของชุมชน
ลูกปัดเปลือกหอย
เครื่องประดับของ “เจ้าแม่โคกพนมดี” ได้แก่ ลูกปัดเปลือกหอยมากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ เม็ด บริเวณกระดูกอกและแผ่นหลังลักษณะที่น่าจะเย็บติดกับผ้าเป็นเสื้อหรือเสื้อคลุมมากกว่าจะเป็นสายสร้อย เครื่องประดับศรีษะทำจากเปลือกหอย แผ่นวงกลมมีเดือยทำจากเปลือกหอย ๒ วงที่ไหล่ซ้ายขวา กำไลเปลือกหอยสวมข้อมือซ้าย เขี้ยวสัตว์เจาะรู ๕ เขี้ยวบริเวณอก และลูกปัดทรงตัวไอกว่า ๙๕๐ เม็ด ลักษณะที่อาจร้อยเป็นสายหรือเย็บติดกับผ้าสวมบริเวณอกและใต้แขน
ลูกปัดเปลือกหอยทรงตัวไอกว่า ๙๕๐ เม็ด
เครื่องประดับศรีษะ ทำจากเปลือกหอย
ชุมชนโบราณสมัยเหล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็พบหลักฐาน วี.ไอ.พี.เช่นกัน ที่แหล่งโบราณคดีเนินอุโลก อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีบุคคลพิเศษเป็นเพศหญิง ๑ โครง เพศชาย ๑ โครง อายุ ๑,๗๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว เป็นเพียง ๒ โครงเท่านั้นที่พบเครื่องประดับทองคำ ขณะที่โครงกระดูกอื่นๆในแหล่งตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับสำริดและหิน ได้แก่ กำไลสำริด แหวนสำริด จี้หินอาเกต ลูกปัดหินคาร์นีเลียนฯ วี.ไอ.พี. ชายหญิง ๒ โครงนี้ ประดับร่างกายด้วย สร้อยลูกปัดทองคำและแหวนเงิน ซึ่งเป็นวัสดุมีค่าหายากในสมัยนั้น ไม่สามารถผลิตเองได้เป็นสินค้านำเข้าจากต่างแดน โครงกระดูกเพศหญิงตกแต่งร่างกายโดดเด่นพิเศษมาก ด้วยสายสร้อยลูกปัดทองคำถึง ๖๘ เม็ดร่วมกับลูกปัดอะเกต จี้อะเกตบริเวณคอ ขดเกลียวสำริดที่หูซ้ายขวา กำไลสำริดอย่างน้อย ๓๘ วง แหวนนิ้วมือสำริด ๖๔ วง แหวนเงิน ๑ วง แหวนนิ้วเท้าสำริด ๙ วง และสวมแหวนเงิน ๑ วง ส่วนโครงกระดูกเพศชาย มีสร้อยคอลูกปัดทองคำ ๕๓ เม็ด แต่เครื่องประดับสำริดมีน้อยชิ้น
ลูกปัดทองคำ ในหลุมฝังศพ วี.ไอ.พี. สมัยเหล็ก อายุ ๑,๗๐๐ - ๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว
สิ่งของอุทิศในพิธีกรรมการฝังศพยุคก่อนประวัติศาสตร์นี้ เป็นเสมือนตัวแทนความผูกพัน ความอาลัย การให้เกียรติและการแสดงความระลึกถึงของญาติพี่น้อง ผู้คนในชุมชนต่อผู้ตาย และบางส่วนคงเป็นของใช้ เครื่องมือประกอบอาชีพ เครื่องประดับที่ผู้ตายเคยใช้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง.
ข้อมูล : นางศิริพันธ์ ตาบเพ็ชร์ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ กองโบราณคดี
(จำนวนผู้เข้าชม 6426 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน