เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
ทุ่งเขางูราชบุรี...ถิ่นนี้มีเรื่องเล่า
“ทุ่งเขางู” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่หน้าเขางูเป็นทุ่งกว้างใหญ่ และ ณ ทุ่งราบนี้เองเคยเป็นสมรภูมิรบในสงครามครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือ“สงครามเก้าทัพ”
บริเวณทุ่งเขางูจะมีเทือกเขางู ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองราชบุรี ทอดยาวเหมือนงูเลื้อยอยู่ตรงกลาง ด้านหน้าเขางูเป็นท้องทุ่งใหญ่ แต่เดิมในช่วงฤดูน้ำหลากคือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน บริเวณทุ่งราบหน้าเขางูจะมีน้ำจะไหลบ่าจากพืดเขาต่างๆ มาขังเต็มไปหมดทั้งทุ่งและท่วมนองไปจนถึงเชิงเขาคล้ายกับทะเลสาบขนาดย่อมๆ นานอยู่หลายเดือน และมีความลึกพอที่เรือบรรทุกข้าวขนาดใหญ่และเรือยนต์ต่างๆ แล่นผ่านไปมาได้ ช่วงที่มีน้ำท่วมมากที่สุด คือเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นต้นไป ในช่วงฤดูน้ำหลากนี้ ยังก่อให้เกิดเทศกาลประเพณีพายเรือไปนมัสการหลวงพ่อฤาษีและรอยพระพุทธบาทในช่วงวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปี ถือเป็นงานประเพณีที่อยู่คู่กับท้องทุ่งแห่งนี้มาช้านาน คนในราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นคนโพธาราม บ้านโป่งฯ ต่างรอคอยที่จะพายเรือมาไหว้พระที่เขางูแห่งนี้ ส่วนผู้ที่อยู่จังหวัดใกล้เคียงถึงกับลงทุนเช่าเรือยนต์มาเที่ยวงานนี้ก็มีไม่น้อย ดังนั้นในทะเลสาบทุ่งเขางู จึงแน่นขนัดไปด้วยเรือทุกชนิด จะมองไปในทิศทางใดก็จะพบแต่เรือแพน้อยใหญ่เต็มท้องน้ำไปหมด และที่นับว่าสนุกสนานกันอย่างยิ่งในงานนี้ ก็คือ การแข่งเรือ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินทุ่งเขางูหลายครั้ง โดยในการเสด็จพระราชดำเนินเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๑ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสไทรโยคครั้งที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรยายลักษณะของเทือกเขางูไว้ว่า
“...ตรงหน้านั้นเขางูเป็นหมู่ยาว แต่หลายยอดหลายอย่างต่างชื่อเสียง ที่เล็กเคียงข้างลงมาหน้าผาขาว เป็นเขางูอยู่อยู่เท่านั้นปั้นเรื่องราว เขาหลักว่าวแลเป็นสูงในฝูงนี้ ยอดเป็นหลักปักเห็นเด่นถนัด เขาที่ถัดเป็นรากกล้วยพรวยแผกหนี ถ้าเป็นเขารอกไปได้จะดี ต่อยอดนี้เขาจุฬาคว้าพนัน ตามเขากล่าวว่าว่าวสุวรรณหงส์ ที่ตกลงตามไต่ป่านผายผัน เมืองมัดตังอยู่ราวสุพรรณ เพียงเท่านั้นคงกันดารยักษ์มารมี...”
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทับใจกับทัศนียภาพและความงามของทุ่งเขางูมาก โดยได้เปรียบเทียบทุ่งเขางูกับสถานที่หลายแห่งที่พระองค์เคยเสด็จไป ดังปรากฏในรายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ.๑๑๗ ซึ่งทรงกล่าวถึง “ทุ่งเขางู” ไว้ดังนี้
“... ฉันพึ่งเคยมาเห็นที่ทุ่งเขางูในระดูน้ำคราวนี้ พอแลเห็นก็ทำยอมโดยทันทีว่า บรรดาทุ่งที่จะเที่ยวเล่นในระดูน้ำ จะเปนทุ่งหนึ่งทุ่งใดในกรุงเก่าก็ดี ท้องพรหมมาศเมืองลพบุรีก็ดี แม้ที่สุดถึงบึงบอระเพ็ดนครสวรรค์ก็ดี บรรดาที่เคยไปเห็นแล้วไม่มีแห่งใดที่จะสู้ทุ่งเขางูนี้เลย ด้วยเป็นทุ่งกว้างน้ำลึกแลมีเขาอยู่ใกล้ๆ จะเล่นเรือพายไปเท่าใดก็ไม่มีที่สุด โดยจะมีเรือใบเล็กๆมาแล่นเล่นก็ได้ กระบวนที่จะเที่ยวทุ่งเก็บกุ่ม เก็บสายบัวอย่างทุ่งกรุงเก่าก็ได้ หรือเอาเรือแวะจอดเข้าที่ดอนขึ้นไร่เก็บน้อยหน่าก็ได้ จะเดินเลยเที่ยวไปถึงเขาก็ไม่ทันเหนื่อย เพราะอย่างนี้ใครๆ จึงได้กลับมาชมกันว่าสนุกนัก...”
ิ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินเมืองราชบุรี ครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสทุ่งเขางูได้ทอดพระเนตรสภาพทุ่งเขางูในฤดูน้ำหลากด้วย และต่อมาภาพน้ำท่วมทุ่งที่เขางู ยังถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดราชบุรี ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๐๐ -๒๕๐๙ อีกด้วย
ปัจจุบันทุ่งเขางูแห่งนี้มีสภาพตื้นเขินกว่าเดิมมาก ไม่มีน้ำท่วมทุ่งเป็นทะเลสาบดังเช่นในอดีต ไม่สามารถนำเรือยนต์เข้าไปแล่น และไม่มีภาพบรรยากาศความงามของท้องทุ่งที่มีการแข่งเรือ การพายเรือเล่น ชมนกชมไม้ เก็บสายบัว กระจับ และสันตวาให้หวนคืนมาอีก นับตั้งแต่ที่ได้มีการตัดถนนหลวงผ่านหลายสายและมีการสร้างเขื่อนเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๖ ภาพชีวิตของผู้คนที่เคยผูกพันกับสายน้ำที่ทุ่งเขางูในอดีต จึงได้เลือนหายไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม สภาพทุ่งเขางูที่คุ้นตาชาวราชบุรีในปัจจุบันคือเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนและเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาปลูกข้าวกระจายอยู่ทั่วไป
ภาพ ๑ ขบวนเรือเสด็จฯของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองราชบุรีผ่านบริเวณทุ่งเขางูเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๒
ภาพ ๒ เขางูเมื่อหน้าน้ำ ราวปีพ.ศ. ๒๔๘๒
ภาพ ๓ งานประจำปี เขางู เป็นภาพเที่ยวเขางูหน้าน้ำ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จากนิตยสารสร้างตนเอง ฉบับ ๑ ตุลาคม ๒๔๘๔ ห้องสมุดอเนก นาวิกมูล
ภาพ ๔ ตราประจำจังหวัดราชบุรีเดิม เป็นอาร์มวงกลมใช้สัญลักษณ์รูปน้ำหลากทุ่ง มีภูเขาเป็นฉากหลัง ล้อมรอบด้วยงูใหญ่ส่วนท้องฟ้าเหนือภูเขามีตราครุฑ ซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายของทางราชการ กำกับด้วยข้อความว่า “จังหวัดราชบุรี” ใช้ในช่วงระหว่างพ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๐๙
ภาพ ๕ ทุ่งเขางูในปัจจุบัน
..................................................................................
เรียบเรียง : นางสาวปราจิน เครือจันทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี
อ้างอิง
ตรี อมาตยกุล, “จังหวัดราชบุรี” เมืองราชบุรี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการประชุมเพลิงศพ คุณหญิงประพันธ์ดำรัสลักษณ์ (ชื่น ศุขะวณิช) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๐๙. มโน กลีบทอง,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี,สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,พ.ศ.๒๕๔๔. สถาบันดำรงราชานุภาพ “รายงานการเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรี เมืองราชบุรีและเมืองสมุทรสงคราม พ.ศ.๒๔๔๑ ร.ศ.๑๑๗” การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ.๒๕๕๕. สมุดราชบุรี พ.ศ.๒๔๖๘,พิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย ถนนพลับพลาไชย จังหวัดพระนคร. องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี,พระบรมราชจักรีวงศ์กับเมืองราชบุรี,กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์,๒๕๒๕. อเนก นาวิกมูล,บางกอกกับหัวเมือง,กรุงเทพฯ:แสงดาว,๒๕๒๗.
(จำนวนผู้เข้าชม 7658 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน