โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ "ด้ามมีดรูปพระคเณศ"

ด้ามมีดรูปพระคเณศ
วัสดุ สำริด ศิลปะสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 23
พบที่ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส







          พระคเณศองค์นี้ เป็นพระคเณศขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นพระคเณศ 2 กร (มือ) ประทับนั่งชันพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้าง พระบาท (เท้า) ขวาวางทับพระบาท (เท้า) ซ้าย ประทับนั่งบนฐานทรงกลม ด้านล่างฐานมีรู สำหรับเสียบด้ามมีด พระหัตถ์ (มือ) ขวาถือบ่วงบาศแนบพระอุระ (อก) โดยบ่วงบาศ หรือเชือกบ่วงมีความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่า เป็นเสมือนโลกียวิสัยหรือตัณหาราคะในทางโลกที่ถูกควบคุมโดยพระคเณศ เมื่อบ่วงบาศอยู่ในมือของพระองค์ และยังมีการตีความกันอีกว่า บ่วงบาศ หรือเชือกบ่วงเป็นสัญลักษณ์ของพลังที่รัดรึงคนดีเอาไว้กับพระเจ้า หรือคล้องคนดีพาไปสู่การเข้าไปรวมกับพระเจ้า พระหัตถ์ (มือ) ซ้าย ถือขอสับช้าง (อังคุกะ) ด้ามยาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องมือที่ใช้ในการถากถาง และสยบอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางทั้งปวง พระเศียร (ศีรษะ) คาดเครื่องประดับ สวมทองพระกร (กำไลข้อมือ) กำไลใต้ศอก และพาหุรัด (กำไลต้นแขน) สวมสังวาลย์ 2 เส้นไขว้กัน ด้านหลังมีตาบหลังทำเป็นลายประจำยาม ทรงพระภูษา (ผ้านุ่ง) ยาวเกือบถึงข้อพระบาท (ข้อเท้า) 3

          พระคเณศองค์นี้เป็นพระคเณศในลักษณะของ “บรมครูช้างผู้ยิ่งใหญ่” ตามคติความเชื่อที่ยึดถือสืบต่อกันมาของผู้มีอาชีพเกี่ยวกับช้าง เชื่อกันว่าประติมากรรมรูปเคารพพระคเณศเป็นของสำคัญของผู้มีหน้าที่เป็นคชบาล ผู้มีตำแหน่งเป็นครูอาจารย์ในทางคชกรรมต้องมีพระคเณศ ซึ่งแกะด้วยงาช้างตระกูลพิฆเนศมหาไพฑูรย์ไว้บูชา ในขณะที่ไปแทรกโพน (การจับช้างกลางแปลง) ช้างเถื่อนก็นำเอาติดตัวไปเป็นเครื่องราง บางคนใช้งาช้างตระกูลพิฆเนศมหาไพฑูรย์แกะเป็น “พระคเณศ” ที่ด้ามมีด ไว้สำหรับใช้เป็นอาวุธประจำตัวในขณะไปทำการคล้องช้างก็มี จากลักษณะของประติมากรรม เครื่องแต่งกาย ลักษณะการใช้งาน และคติการสร้างทำให้สันนิษฐานได้ว่า พระคเณศองค์นี้น่าจะเป็นส่วนด้ามมีดหมอของหมอช้าง หรือด้ามมีดชะน็อก ซึ่งใช้ในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง

          การพบประติมากรรมพระคเณศองค์นี้ในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ อาจเนื่องมาจากชุมชนบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ และชุมชนโดยรอบทะเลสาบสงขลา เป็นชุมชนที่รับอิทธิพลคติความเชื่อ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมมาจากอินเดียโดยตรง ดังจะเห็นได้จากร่องรอยหลักฐานอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูทั้งลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย อีกทั้งตามตำนานนางเลือดขาวเชื่อกันว่า ชุมชนบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ และชุมชนโดยรอบทะเลสาบสงขลาเป็นชุมชนเลี้ยงช้างมาก่อนที่จะขยายตัวเป็นชุมชนเมืองที่มีขนาดใหญ่ และช้างยังเป็นสัตว์สำคัญในการค้าข้ามสมุทรอีกด้วย

--------------------------------------------------------

เรียบเรียง : นางสาวจันทร์สุดา ทองขุนแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ถ่ายภาพ : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

อ้างอิง :
1. กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549.
2. กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. พระคเณศ เทพแห่งศิลปากร. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2554.
3. จิรัสสา คชาชีวะ. พระพิฆเนศวร์ : คติความเชื่อและรูปแบบของพระพิฆเนศวร์ที่พบในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2547.
4. ผาสุก อินทราวุธ. “พระคเณศ: ที่พบในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 10 (2542): 4863-4876.
5. พิริยะ ไกรฤกษ์. ศิลปทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2523.
6. ศรีศักร วัลลิโภดม. “เมืองพัทลุง” ใน อู่อารยธรรมแหลมทองคาบสมุทรไทย, 217-242. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548.
7. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร. ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา, 2544.
8. สันติ เล็กสุขุม. ประวัติศาสตร์ศิลปะไทย (ฉบับย่อ): การเริ่มต้นและการสืบเนื่องงานช่างในศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2548.
9. อายัณโฆษณ์ [นามแฝง]. “เรื่องพระคเณศที่เกี่ยวกับช้าง” ใน เทพนิยายสงเคราะห์เรื่องเมขลา-รามสูรและพระคเณศ, 70-75. เสถียรโกเศศ [นามแฝง] และนาคะประทีป [นามแฝง], บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555.
10. อุไร จันทร์เจ้า. "ร่องรอยหลักฐานของศาสนาพราหมณ์ในชุมชนโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระ ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19." วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2560.

ที่มาของข้อมูล : https://www.facebook.com/songkhlanationalmuseum/posts/3040984572632124

(จำนวนผู้เข้าชม 2205 ครั้ง)