เว็บท่ากรมศิลปากร
Thai
English
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
หน้าหลัก
เกี่ยวกับหน่วยงาน
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ประวัติและบทบาทหน้าที่
โครงสร้างและบุคลากร
หน่วยงานในสังกัด
ข่าวและกิจกรรม
ข่าวกิจกรรม
ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ข่าวรับสมัครงาน
คลังภาพกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ปฏิทินกิจกรรม
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
คลังภาพทรงคุณค่า
แผ่นพับกิจกรรม
วีดีทัศน์
นิทรรศการ
ประชาชนควรรู้
กฎหมายและระเบียบ
เรื่องน่ารู้
บริการ
เอกสารดาวน์โหลด
แบบสอบถาม
สอบถามบ่อย
ติดต่อเรา
หน้าแรก
คลังวิชาการ
ความรู้ทั่วไป
รอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ภูถ้ำพระยายืน
พุทธศาสนิกชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต่างมีความเชื่อตาม “ตำนานพระเจ้าเลียบโลก” ว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังคงพระชนม์ชีพอยู่ เคยเสด็จมาโปรดสรรพสัตว์ยังดินแดนแถบนี้ และมีพุทธทำนายไว้หลายประการเกี่ยวกับบ้านเมืองต่าง ๆ รวมทั้งทรงประทับรอยพระบาทไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่สรรพสัตว์และมวลมนุษย์ทั้งหลาย ดังตำนาน เรื่องเล่า เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทสำคัญต่าง ๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น พระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน พระพุทธบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พระพุทธบาทเวินปลา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระพุทธบาทเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ในปี 2557 สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี (ขณะนั้น) ได้ดำเนินงานสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตพื้นที่ตอนเหนือของจังหวัดอุบลราชธานี และได้พบรอยสลักคล้ายกับรอยเท้ามนุษย์บนพื้นหินในบริเวณเขตพื้นที่ภูถ้ำพระยายืน ตำบลหนามแท่ง อำเภอศรีเมืองใหม่ จำนวน 2 รอย เป็นรอยเท้าข้างซ้ายและรอยเท้าข้างขวา ไม่มีลวดลายใด ๆ ประดับ โดยมีรอยเท้าขวาอยู่หน้า รอยเท้าซ้ายอยู่หลัง ระยะห่างกันประมาณ 125 เมตร ซึ่งแสดงการก้าวเดินของเท้าทั้งสองข้างนั่นเอง ปลายเท้าค่อนข้างเสมอกัน มุ่งไปทางทิศเหนือ รอยเท้ามีขนาดใกล้เคียงกัน คือ รอยเท้าข้างซ้ายยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ปลายเท้ากว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ส้นเท้ากว้างประมาณ 10 เซนติเมตร รอยเท้าข้างขวายาวประมาณ 42 เซนติเมตร ปลายเท้ากว้างประมาณ 16 เซนติเมตร ส้นเท้ากว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรอยจมลึกลงไปในพื้นหินประมาณ 2 เซนติเมตร
สภาพภูมิประเทศเป็นลานหินกว้างบนภูเขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 250 เมตร มีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อม ๆ ใกล้เคียงมีเพิงผาหินทางทิศเหนือและลำห้วยแซะทางทิศตะวันตก
จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ทราบความว่ารอยเท้าทั้ง 2 รอยนี้มีมานานแล้ว ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใดหรือใครมาสร้างไว้ แต่มีผู้ศรัทธาขึ้นมาสักการะบูชาอยู่เสมอ และเรียกบริเวณนี้ว่า “ภูถ้ำพระยายืน” ดังนั้นในเบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่า รอยสลักรูปเท้าทั้งสองรอยนี้ ผู้สร้างน่าจะสลักขึ้นเพื่อให้เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองในอิริยาบถก้าวเดิน ศิลปะกรรมแบบพื้นถิ่นอีสาน (ลาว-ล้านช้าง) ซึ่งเน้นความเรียบง่าย ในช่วงพุทธศตวรรคที่ ๒๓
ข้อมูล : วสันต์ เทพสุริยานนท์ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี
อ้างอิง :
สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถาน โครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาแหล่งผลิตกลองมโหระทึกในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตอนกลาง ปีที่ 2 พ.ศ. 2557. เอกสารอัดสำเนา. 2557. : นาคฤทธิ์. พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง. เชียงใหม่ : ลานนาการพิมพ์, 2545.
(จำนวนผู้เข้าชม 1327 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม -
นโยบายเว็บไซต์
|
มาตรฐาน