การแพทย์ไทยสมัยโบราณ
          ย้อนหลังไปในสมัยอยุธยาการแพทย์ของไทยยังคงไว้ซึ่งแบบแผนโบราณ มีการใช้ยาสมุนไพร และวิธีการรักษาพยาบาลตามความเชื่อทางไสยศาสตร์และโชคลาง การเรียนรู้วิชาแพทย์ได้จากการจดจำถ่ายทอดต่อกันมาหรือฝึกฝนทดลองใช้วิธีการต่าง ๆ จนเกิดความชำนาญ หมอบางคนรู้จริง บางคนใช้วิธีเดาสุ่มรักษาหรือใช้เวทมนตร์ ผู้ป่วยบางรายจึงต้องเสี่ยงอันตรายจากยาและวิธีการรักษาบางประเภท

          ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการปฏิบัติงานของหมอแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ ๑. หมอหลวง คือ แพทย์ที่รับราชการอยู่ในราชสำนัก และรักษาผู้เจ็บป่วยตามพระบรมราชโองการเท่านั้น ๒. หมอราษฎร์ หรือหมอพื้นเมือง คือ บุคคลทั่วไปที่มีความรู้เกี่ยวกับยาและการรักษาโรค หรือผู้ที่พยายามตั้งตัวเป็นหมอโดยคิดว่าตนเองสามารถทำการรักษาได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การใช้ยาสมุนไพร ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา ฯลฯ และเรียกค่าตอบแทนการรักษาได้ตามความพอใจของตน สำหรับยานั้นทำจากสมุนไพรที่ได้จากเปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ รากไม้ อวัยวะของสัตว์บางชนิด น้ำผึ้ง ฯลฯ อาจจะใช้ต้มกินเป็นยาน้ำ บดยาเป็นผง หรือปั้นเป็นลูกกลอน มีการใช้กลวิธีในการปรุงยาหรือผสมยาให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ เช่น การดูฤกษ์ยาม และการใช้เวทมนตร์คาถา เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าการรักษาโรคด้วยสมุนไพรและพิธีกรรมบางอย่างจะดูประหนึ่งว่าไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ก็ได้ผลในการรักษาโรคทางกายและจิตใจอยู่มาก

          ใน พ.ศ. ๒๓๖๓ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดไข้ป่วงใหญ่ (อหิวาตกโรค) ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีอาพาธพินาศ โดยมีพระราชดำริถึงความเป็นไข้ซึ่งบังเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์เป็นครั้งใหญ่นั้นนับว่าเป็น“กรรมของสัตว์” และยังมีผู้คนในเมืองอื่น ๆ ประสบทุกข์ภัยจากโรคร้ายนี้เช่นเดียวกัน เช่น ที่เกาะหมาก แพทย์ทั้งหลายไม่สามารถจะรักษาโรคนี้ให้หายได้ด้วยยาที่มีอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอาพาธพินาศ โดยให้มีการสวดอาฏานาฏิยสูตรหรือ อาฏานาฏิยปริต ยิงปืนใหญ่รอบพระนคร อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุมาตั้ง ณ พระมณฑลพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท นิมนต์พระราชาคณะร่วมกระบวนแห่โปรยปรายประน้ำพระปริตรโปรยทรายทั้งทางบกทางเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนบรรดาข้าราชการ พร้อมกันทรงศีลและรักษาศีล ตั้งใจทำบุญสวดมนต์เป็นการใหญ่ พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมากเพื่อซื้อปลาและสัตว์สี่เท้าสองเท้าทั้งหลายในท้องตลาดปล่อยเป็นการกุศล ปล่อยนักโทษที่ถูกจองจำจนหมดสิ้น แม้จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำการพระราชพิธีเพื่อปลอบขวัญพระนครและอาณาประชาราษฎร์ ทรงบำเพ็ญทานบารมี แต่ความไข้ก็มิได้เสื่อมทุเลาลง มิสามารถระงับโรคได้ จึงมิได้มีการประกอบพระราชพิธีนี้อีก แต่พระมหากษัตริย์ได้ทรงหันมาทำนุบำรุงด้านการแพทย์และสาธารณสุข

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนับได้ว่าเป็นปีเริ่มต้นแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันเมื่อมีมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกได้แก่ ศาสนาจารย์ คาร์ล ออกัสตัส ฟรีดริค กุตสลาฟฟ์ (Carl Augustus Friedrich Gutzlaff) ชาวเยอรมัน และศาสนาจารย์ ยาคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) ชาวอังกฤษจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอน (London Missionary Society) ทั้งสองได้เริ่มงานด้วยการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาออกแจกจ่าย หนังสือเหล่านี้พิมพ์จากประเทศจีน จากนั้น จึงจ่ายยารักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยทั้งไทยและจีนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากศาสนาจารย์กุตสลาฟฟ์มีความรู้ด้านการแพทย์ จึงรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่คนไทยโดยทั่วไปด้วย นับแต่นั้นเป็นต้นมาคนไทยจึงนิยมเรียกมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในภายหลังว่า “หมอ” หลังจากที่คริสตจักรอเมริกา (American Board of Commissioners for Foreign Missions) ได้รับรายงานการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทยของศาสนาจารย์กุตสลาฟฟ์ จึงส่งมิชชันนารีเข้ามาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๓๗๘ เมื่อหมอบรัดเลย์เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เขาได้เปิดโอสถศาลาขึ้นที่บ้านพัก มีคนไข้มารับการรักษาและได้รับยาเป็นจำนวนมากทุกวัน


          ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โรคระบาดที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดโรคหนึ่งคือ ไข้ทรพิษ การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเริ่มขึ้นเมื่อปลายพ.ศ. ๒๓๗๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกมิชชันนารีได้พยายามปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษมาหลายปี โดยใช้พันธุ์จากฝีดาษแต่ทว่าไม่มีใครเชื่อถือจนพวกมิชชันนารีทดลองปลูกฝีให้แก่บุตรของตนเองเป็นตัวอย่าง ผู้คนจึงเชื่อว่าปลูกได้จริง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้คนไทยได้รับการปลูกฝี เมื่อได้ทรงทราบว่าหมอมิชชันนารีปลูกฝีได้จริงจึงมีรับสั่งให้หมอหลวงไปหัดปลูกฝีเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๖๐ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๒ หมอบรัดเลย์ได้พันธุ์หนองฝีมาจากอเมริกาเป็นครั้งแรก การปลูกฝีจึงเป็นที่แพร่หลาย นับเป็นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษครั้งแรกในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นมาการแพทย์ของไทยจึงได้รับการพัฒนาตามแนวทางตะวันตกอย่างต่อเนื่องโดยลำดับมาจนถึงปัจจุบัน วิชาความรู้และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีคำกล่าวที่ว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” นั้นยังคงเป็นความปรารถนาของทุก ๆ คนเสมอ



เรียบเรียงโดย นายชรัตน์ สิงหเดชากุล นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มแปลและเรียบเรียง สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

ที่มาของข้อมูล https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2886149994766917&id=346438995404709&__tn__=K-R

(จำนวนผู้เข้าชม 10791 ครั้ง)

Messenger