ประวัติความเป็นมา
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวจังหวัดนครราชสีมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร มีพื้นที่รับผิดชอบราว ๒,๖๕๘ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของเมืองพิมายในอดีต ด้านทิศเหนือและตะวันออกจรดแม่น้ำมูล ทิศตะวันตกจรดลำจักราช และด้านทิศใต้ครอบคลุมสุดเขตบารายด้านทิศใต้
กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ โดยดำเนินการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๓ ตอนที่ ๓๔ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๙ และได้ดำเนินการบูรณะปราสาทหินพิมายครั้งใหญ่ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๗ – ๒๕๑๒ โดยกรมศิลปากรร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส ทำการบูรณะปราสาทประธานด้วยเทคนิค “อนัสติโลซีส” (ANASTYLOSIS) คือ การนำชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวปราสาทประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการและนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม รวมทั้งได้บูรณะโบราณสถานในเมืองพิมายอย่างต่อเนื่อง ต่อมากรมศิลปากรจึงได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ พิมายขึ้น และดำเนินการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานอื่นๆ ที่สำคัญจนแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๒ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เมืองพิมาย ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานที่ตั้งของปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีอายุราว ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว เมืองพิมายมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕๖๕ เมตร ยาว ๑,๐๓๐ เมตร มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ มีแม่น้ำมูลไหลผ่านทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทางทิศใต้มีลำน้ำเค็ม ทิศตะวันตกมีลำน้ำจักราชไหลขึ้นไปบรรจบกับลำน้ำมูล คำว่า “พิมาย” น่าจะเป็นคำเดียวกับคำว่า “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรที่กรอบประตูด้านทิศตะวันออกของระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมาย ระบุชื่อ “กมรเตงชคตวิมาย” และกล่าวถึงการสร้างรูปเคารพสำคัญชื่อ “กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย” ใน พ.ศ.๑๖๕๑ ดังนั้นเมืองพิมาย จึงเชื่อได้ว่าเป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ ที่มีการพัฒนาของชุมชนและสังคมตามลำดับ
บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
1) ดูแลรักษาโบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
2) สำรวจ ค้นคว้า ศึกษาวิจัย ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
3) เผยแพร่ และบริการข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
4) ดูแลรักษาความปลอดภัย และความสะอาดบริเวณพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
5) อนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป
6) บูรณะ ซ่อมแซมโบราณสถานภายในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
(จำนวนผู้เข้าชม 2223 ครั้ง)