...

ประวัติ และบทบาทหน้าที่

ประวัติ

        งานจดหมายเหตุ ของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาสืบย้อนขึ้นไปได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย

โดยอาศัยตามข้อทรงสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า "เรื่องจดหมายเหตุ

มีธรรมเนียมเก่า เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กจะต้องจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในหอศาสตราคม และงานจดหมายเหตุ

ในราชสำนักก็ยังเป็นประเพณีสืบต่อมาหลายสมัย ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฎหลักฐานเรื่องการจัดงบประมาณ

กรมพระอาลักษณ์ เมื่อ ร.ศ. 115 ขอรับพระราชทานยกการบันทึกเหตุการณ์ประจำวันรวมกับราชกิจจานุเบกษายกเป็น

กองจดหมายเหตุ ใน ร.ศ. 118 ปรากฏหลักฐานประกาศตั้งตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีและกรมพระอาลักษณ์

มีหลวงนรราชจำนงดำรงตำแหน่งปลัดกรม ยังคงปรากฏมีกองจดหมายเหตุอยู่"

 

          ส่วนหอจดหมายเหตุ ในความหมายที่เป็นหน่วยงานเก็บเอกสารไว้เป็นเอกสารจดหมายเหตุ

ตรงกับคำว่า ARCHIVES ของภาษาอังกฤษ มิใช่เพียงแต่หมายถึงการจดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นแล้วเก็บไว้

นั้นเริ่มในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือราชการ

เป็นอย่างยิ่งและมีพระราชกระแสให้นำ เอกสารสำคัญไปเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุ ดังตัวอย่างพระราชกระแส

ที่จะอัญเชิญต่อไปนี้

 

               "เรื่องตราเป็นอันได้ความถูกต้องตามที่พระยามหาอำมาตยแจ้งความ แต่มีความเสียใจที่เปนตราแกะใหม่ทั้ง 2 ดวง

รุ่นเดียวกันกับนารายน์ทรงราหูตราเก่าเป็นจะหายหกตกหล่นเพราะเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้อยู่ติดเมืองสักคนหนึ่งศุภอักษรนี้อ่านคันใจ

เต็มที เพราะเจ้าใจโดยมาก ด้วยเป็นคำมคธคำไทยเจืออยู่แต่คำเขมรไม่เข้าใจเลย ขอให้ล่ามเขมรเขียนอักษรขอมบรรทัดหนึ่ง

อักษรไทยอ่านเปนสำเนียงเขมรบรรทัดหนึ่ง คำแปลภาษาเขมรเขียนลงไว้ใต้คำเขมรที่เขียนอักษรไทย หนังสือชนิดนี้

ควรจะเข้าอาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี"

 

          การดำเนินงานจดหมายเหตุในระยะแรกมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2459 เป็นแผนกจดหมายเหตุ

อยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ มีเอกสาร 2 ประเภท คือ เอกสารจดหมายเหตุในอดีตได้มาจาก

หนังสือที่หอพระสมุดวชิรญาณมีอยู่เดิม ส่วนที่หาเพิ่มได้มาจากหนังสือท้องตราและใบบอก

ราชการหัวเมืองตั้งแต่รัชกาล ที่ 4 ขึ้นไป ขอจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงต่าง ๆ

ส่วนเอกสารจดหมายเหตุในปัจจุบันให้กระทรวงต่าง ๆ ส่งบรรดาคำสั่ง ข้อบังคับ หรือรายงาน

ที่กระทรวงนั้น ๆ จัดพิมพ์ขี้นมาให้หอพระสมุดวชิรญาณเก็บรักษาไว้

 

          ท่านตรัสว่า "เราหาหนังสือหลักฐานทางราชการในสมัยก่อน ๆ ลำบากอยู่แล้ว

ฉะนั้น ถ้าเริ่มต้นเสียแต่บัดนี้ ในเวลาอีก 100-200 ปี เด็ก ๆ จะแต่งหนังสือเรื่องอะไรก็จะหา

หลักฐานได้จากหอนี้ ไม่ต้องลำบากเหมือนคนชั้นพ่อ"  ข้าพเจ้าทูลถามว่า "จะเอาหนังสือ

มาจากไหน" ท่านตอบว่า "สั่งไปตามกระทรวงว่าหนังสืออะไรที่พ้น 25 ปี แล้วให้ส่งเข้าหอนี้

เราจ้างเด็กผู้หญิง (เพราะรายจ่ายต่ำด้วยไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว) ด้วยเงินเดือนน้อย มาเป็น

ผู้เลือกปี เลือกเรื่อง เข้าแฟ้มเรื่อยไป ในไม่ช้าเราก็จะได้เรื่องติดต่อกันมาเป็นหลักฐาน"

 

          นอกจาก นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่ง

ประวัติศาสตร์ไทย ผู้ทรงสนพระทัยการศึกษาค้นคว้าวิจัยได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือ

ราชการว่า จะเป็นเอกสาร ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทรงห่วงใยว่าเอกสารเหล่านี้จะสูญหาย จึง

ทรงดำริจัดตั้งหอจดหมายเหตุและหอรูปขึ้น เพื่อเก็บรักษาเอกสารที่มีอายุเกิน 25 ปี และรูปถ่าย

ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ดังปรากฏในพระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลว่า

 

          งานจดหมายเหตุเป็นที่ยอมรับในความสำคัญ จึงจัดตั้งหน่วยงานขึ้นรับผิดชอบดำเนินการ

โดยเฉพาะ เมื่อมีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมศิลปากร ในวันที่ 18

สิงหาคม พ.ศ. 2495 ตั้งกองจดหมายเหตุแห่งชาติขึ้น

 

          การดำเนินงานจดหมายเหตุได้พัฒนาและขยายขอบข่าย การปฏิบัติงานออกไปอย่าง

กว้างขวาง มีการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรให้ทันสมัย เพื่อก้าวไปสู่การดำเนินงานที่ตรงตาม

มาตรฐานวิชาการจดหมายเหตุสากล พร้อมทั้งรับหอภาพยนตร์แห่งชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ

งานจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2530 รวมทั้งขยายเครือข่ายหอจดหมายเหตุแห่งชาติใน

ส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา

 

ปัจจุบัน จากนโยบายการปฏิรูประบบราชการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีฐานะเป็นสำนักหนึ่งในกรมศิลปากรกระทรวงวัฒนธรรม มีอัตรากำลัง เป็นข้าราชการ 61 คน พนักงานราชการ 3 คน ลูกจ้างประจำ 16 คน ลูกจ้างชั่วคราว 21 คน

บทบาทหน้าที่

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ    มีหน้า ที่ศึกษาวิเคราะห์ วางระบบ เพื่อการรวบรวมเอกสารจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรต่างๆ และเก็บรักษา อนุรักษ์เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิงการ ปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ประวัติการจัดตั้ง อำนาจหน้าที่ การบริหารงาน นโยบาย แผนงาน โครงการ  ข้อมูลภาพถ่ายและแถบบันทึกเสียงเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญและเป็นหลักฐานในการคุ้มครองสิทธิบุคคลและสถาบัน  นอกจากนี้ยังดำเนินการบันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ รวมถึงเป็นศูนย์ข้อมูลและศูนย์ประสานงานจดหมายเหตุทั้งในประเทศและต่างประเทศและดำเนินงานด้านจดหมายเหตุเฉพาะ ได้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและหอจดหมายเหตุบุคคลสำคัญของชาติ

 

  1. ศึกษา วิเคราะห์ วางมาตาฐานกาจัดเก็บ การรับมอบ และการรับฝากเอกสารจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรต่าง ๆ
  2. ศึกษา พัฒนา วิเคราะห์ วิจัย ประเมินคุณค่า จัดหมวดหมู่และทำเครื่องมือ ช่วยค้น การจัดเก็บ การอนุรักษ์ การเผยแพร่ และการให้บริการเอกสารจดหมายเหตุ
  3. ดำเนินงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช
  4. บันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติที่เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ
  5. ดำเนินการหอภาพยนตร์แห่งชาติ
  6. ดำเนินงานศูนย์สารสนเทศเอกสารจดหมายเหตุ
  7. ดำเนินการในฐานะเป็นศูนย์ข้อมูลและศูนย์ประสานงานจดหมายเหตุทั้งในประเทศและต่างประทศ
  8. ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานจดหมายเหตุ
  9. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

(จำนวนผู้เข้าชม 569 ครั้ง)


Messenger