เรื่อง เรือขุด (A Dugout boat)
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จันทบุรี เผยแพร่องค์ความรู้
เรื่อง เรือขุด (A Dugout boat)
เรือขุดเป็นเรือทำจากไม้ซุงทั้งต้นหรือทั้งท่อน ขุดด้านบนให้เป็นรางแล้วเบิกปากออกให้กว้าง ถากหัวและท้ายเรือให้เรียวเชิดขึ้นตามส่วน เรือขุดที่ใช้กันในประเทศไทย เช่น เรือมาด เรือชะล่า เรืออีโปง และเรือของกลุ่มชาติพันธ์มอแกนทางภาคใต้ของประเทศไทย
ขั้นตอนการทำเรือขุด
1.การฟันเรือ(โกลน) คือ การเตรียมซุง(ท่อนไม้) ให้ได้ตามความยาวที่ต้องการ ใช้ขวานฟันถากเปิดปากเรือ ขุดภายในให้เป็นลำรางคล้ายรางข้าวหมู แล้วพลิกคว่ำเอาด้านท้องเรือขึ้น ฟันถากหัว-ท้ายให้แหลมเป็นรูปหัวเรือ-ท้ายเรือ เรียกว่า ฟันแก้มหมู เมื่อหงายเรือขึ้นจะได้รูปทรงเรือ เรียกว่า เรือโกลน
2.การเบิกเรือ คือ การดัด ขยายกราบเรือให้กว้างออก โดยการนำเศษไม้สุมไฟในลำต้นที่ขุดไว้ตามแนวยาวตลอดลำเรือ แล้วพลิกคว่ำเรือ ลนไฟให้ความร้อนทั้งลำเรือ หลังจากนั้นหงายเรือขึ้น ทำการเบิกเรือขึ้นโดยการใช้ไม้ปากกา(รูปร่างคล้ายกรรไกร) ขัดกราบเรือทั้งสองข้าง แล้วใช้ไม้ค้ำกราบเรือทั้งไว้จนเนื้อไม้เย็นตัวลง จึงปล่อยไม้ปากกาและไม้ค้ำออก การเบิกปากเรือนี้ต้องค่อยๆ ทำ และทำหลายๆ ครั้งเมื่อกราบเรือขยายออกแล้วจะทำให้หัวเรือ-ท้ายเรือ ดัดยกสูงขึ้นกลายเป็นทวนหัว-ทวนท้ายเรือ แล้วจึงถากตกแต่งรายละเอียดอีกครั้งจนเสร็จสมบูรณ์ เรือขุดบางชนิดจะนำไปทำการเสริมกงและต่อไม้เปลือกเรือ ซึ่งทำให้เรือมีขนาดใหญ่ขึ้น
เรือขุดที่มีใช้ในประเทศไทย มีอยู่มากมายหลายประเภท เช่น เรือมาด เรือชะล่า เรือผีหลอก เรืออีโปง เรือพายม้า เรือหมู เรือหางแมงป่อง(แม่ปะ) เรือยาว เป็นต้น ซึ่งยังพอพบเห็นได้บ้างแถบจังหวัดภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิตร อ่างทอง เป็นต้น
ปัจจุบันการทำเรือขุดแบบโบราณแทบไม่มีให้เห็นแล้ว อาจเนื่องมาจากมาสามารถหาซุง(ท่อนไม้) ขนาดใหญ่มาใช้ทำเรือได้ ประกอบกับการคมนาคมทางน้ำลดความสำคัญลงไป ส่วนเรือที่ใช้กันอยู่ก็จะเปลี่ยนวัสดุจากไม้ไปใช้โลหะ หรือ ไฟเบอร์กลาสแทน
อ้างอิง
1.ราชาวดี งามสง่า.เรือไทยสมัยโบราณ “มรดกทางสายน้ำอันล้ำค่าของคนไทยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์” สำนักพิมพ์: บริษัท ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด พิมพ์ครั้งที่: 2 ปีที่พิมพ์: 2540
2.รัตนา จันทร์เทาว์. เรือยาวประเพณีวิถีชีวิตอีสาน : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2559
3.อรุณ แถวจัตุรัส.พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา.2543
4.โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
“ชนเผ่าพื้นเมืองมอแกน”
5.กรมศิลปากร.ประวัติศาสตร์การพาณิชย์นาวีไทย.ผู้เขียนและเรียบเรียง นายเอิบเปรม วัชรางกูร : สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,2544
(จำนวนผู้เข้าชม 3526 ครั้ง)