พระแท่นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระแท่นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สมัยธนบุรี ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ได้มาจากเมืองแกลง (อำเภอแกลง) จังหวัดระยอง
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
พระแท่นไม้จำหลักลายปิดทอง ลักษณะเป็นตั่งไม้ฐานสิงห์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีพนัก ส่วนฐานตั่งทั้งสี่ด้านตกแต่งลักษณะคล้ายขาสิงห์ กล่าวคือ ส่วนแข้งสิงห์จำหลักลายค้างคาว (สัญลักษณ์มงคลจีนแทนคำว่า “ฮก” มีความหมายถึงอายุยืนยาว) กาบเท้าสิงห์จำหลักรูปช่อพรรณพฤกษา ขาตั่งรองรับด้วยรูปจำหลักสิงโตหมอบเชิดหน้าขึ้น (บางตัวแสดงการคาบลูกแก้วอยู่ในปาก) บริเวณกึ่งกลางท้องสิงห์ด้านหน้าตั่งจำหลักรูปมังกรคู่หันหน้าเข้าหากัน คั่นด้วยดาบมีอักษรจีนคำว่า “หวัง” (王) หมายถึงกษัตริย์ ด้านข้างจำหลักลายพรรณพฤกษารูปดอกไม้และส้มมือ* มีสัญลักษณ์มงคลแทรกรวมอยู่ด้วย อาทิ รูปหนังสือ หรือคัมภีร์สองเล่มร้อยด้วยริบบิ้น และ รูปน้ำเต้าประดับด้วยริบบิ้น ถัดขึ้นมาส่วนท้องไม้แบ่งออกเป็นสามช่อง สลักเป็นลายพรรณพฤกษารูปดอกไม้ชนิดต่าง ๆ อาทิ ดอกโบตั๋น ดอกบ๊วย และดอกเบญจมาศ (ดอกไม้ทั้งสามเป็นสัญลักษณ์มงคลในศิลปะจีนมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความมีโชคลาภและความมีอายุยืนยาว) อีกทั้งจำหลักรูปนกแทรกอยู่ตามกิ่งไม้ ด้านข้างพระแท่นบริเวณท้องสิงห์จำหลักลายพรรณพฤกษา มีรูปดอกไม้ต่าง ๆ เช่น ดอกพุดตาน ดอกบัว ถัดขึ้นมาเป็นลายหงส์คู่ท่ามกลางลายพรรณพฤกษา
พระแท่นองค์นี้ตามประวัติกล่าวว่าได้มาจากเมืองแกลง (อำเภอแกลง) จังหวัดระยอง เมื่อคราวเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ มีประวัติว่าตั้งจัดแสดงอยู่ที่ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พระที่นั่งองค์กลางในหมู่พระวิมาน โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงว่าเป็นพระแท่นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ดังความว่า
“...ตรงช่องผนังสกัดข้างหลัง ข้างเหนือ (คือ) พระแท่นพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มาจากเมืองแกลง...”
ต่อมาในลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระแท่นองค์นี้ว่า
“...ถึงรัชกาลที่ ๗ สมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรฯ เสด็จลงไปทางหัวเมืองชายทะเล ไปพบพระแท่นขุนหลวงตากอยู่ที่วัดในเมืองแกลง อันเป็นวัดถิ่นเดิมของพระสังฆราชชื่น**ตรัสสั่งให้ส่งมายังพิพิธภัณฑสถาน เป็นเตียงจีนมีรูปสิงโตจำหลักปิดทองรองขาเตียงที่ต่อกับพื้นทั้ง ๔ ขา…”
ในหนังสือ “สมุดมัคคเทศนำเที่ยวหอพระสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑) ได้เพิ่มเติมคำบรรยายพระแท่นองค์นี้ว่า “...พระแท่นกระบวรจีนของพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มาจากเมืองแกลง...”
ทั้งนี้การพบพระแท่นองค์นี้ที่เมืองแกลงนั้น มีข้อสันนิษฐานอยู่สองแนวทาง กล่าวคือ ข้อสันนิษฐานแรก พระโพธิวงษ์ (ชื่น) เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ธนบุรี เดิมเป็นชาวเมืองแกลงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๔*** ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ถูกลดพระยศลงมาดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมธิราชมหามุนี (ว่าที่พนรัตน์)**** และภายหลังในคราวทำสังคายนาพระไตรปิฎก พศ. ๒๓๓๒ มีสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลก สันนิษฐานว่าท่านได้นำพระแท่นองค์นี้กลับไปยังภูมิลำเนาเดิมที่เมืองแกลง
ข้อสันนิษฐานที่สอง คือ พระธรรมเจดีย์ (อยู่) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร (พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๒๙) เดิมเป็นชาวเมืองแกลง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมเจดีย์” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เล่ากันอีกทางว่าท่านเป็นผู้ที่ย้ายพระแท่นองค์นี้พร้อมด้วยตู้พระธรรมเขียนภาพลงสีและพระพุทธรูปหวายฉาบปูน ๑ องค์ ไปไว้ที่วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ กรมศิลปากรได้ปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการ ประวัติศาสตร์ชาติไทยภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ได้นำพระแท่นองค์นี้จัดแสดงรวมไว้ด้วยเช่นกัน กระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ย้ายพระแท่นองค์นี้มาจัดแสดงอยู่ที่ห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
*ส้มมือ หมายถึง “ฮก” สัญลักษณ์มงคลสื่อถึงวาสนา หรือยศถาบรรดาศักดิ์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน https://www.facebook.com/media/set/?set=a.429446087107623...
**สมเด็จพระสังฆราชชื่น ทรงเป็นพระสังฆราชองค์ที่ ๓ ในสมัยกรุงธนบุรี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในพระนิพน์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ตำนานคณะสงฆ์
***เรื่องการสถาปนาพระโพธิวงศ์ (ชื่น) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชในสมัยกรุงธนบุรี อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอน แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี
****เรื่องการลดพระยศสมเด็จพระสังฆราชชื่น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
อ้างอิง
กรมศิลปากร. สมุดมัคคเทศนำเที่ยวหอพระสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. พระนคร: ไทยพิทยา, ๒๔๙๑.
ดำรงราชานุภาพ. สมเด็จฯ กรมพระยา. อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แล พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร. พระนครฯ: โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๙.
ดำรงราชานุภาพ. สมเด็จฯ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๔. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก: https://vajirayana.org/สาส์นสมเด็จ-พุทธศักราช-๒๔๘๔/สิงหาคม/วันที่-๒๔-สิงหาคม-พศ-๒๔๘๔-ดร
วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร. ลำดับเจ้าอาวาส. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔, จาก: https://www.watmoli.org/index.php?url=about&code=admin&cat=A
สิรินทร์ ย้วนใยดี. “พระแท่นประทับ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช.” นิตยสารศิลปากร ๖๑, ๑ (มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑): ๑๑๗-๑๒๗.
จำนวนผู้เข้าชม 2,286 คน