ขาลนักษัตร
การขึ้นปีใหม่ในประเทศไทยนั้นแต่เดิมนับวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบการนับวันเวลาแบบจันทรคติ (ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับวันที่นับโดยใช้ระบบสุริยคติจะพบว่าแต่ละปี วันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายจะไม่ตรงกันทุกปี) ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงเปลี่ยนให้วันขึ้นปีใหม่ของไทยเป็นวันที่ ๑ เมษายน เนื่องจากระบบการนับจันทรคติไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ในขณะนั้นมีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ดังความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีข้อความว่า
“...พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่าประดิทินที่ใช้กันในโลก ประเทศทั้งปวงรับใช้ประดิทินสุริยคติอย่างฝรั่งมากขึ้นทุกที่ ประดิทินทางจันทรคติมีที่ใช้น้อยลง ต่อไปวันน่าโลกคงจะใช้ประดิทินสุริยคติด้วยกันหมด ควรจะเปลี่ยนประดิทินไทยไปใช้สุริยคติเสียทีเดียว...” (สะกดตามข้อความต้นฉบับ)
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ ๑ มกราคม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา* และยังคงนับเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คติการนับปีตามนักษัตรของไทยนั้นสันนิษฐานว่ารับอิทธิพลจากจีนที่ไทยรับผ่านวัฒนธรรมเขมร โดยปรากฏหลักฐานอย่างน้อยสมัยสุโขทัย ข้อความตอนหนึ่งในศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๐ กล่าวว่า “...๑๒๑๔** ศกปีมะโรงพ่อขุนรามคำแหง...” รวมถึงบ้านเมืองที่ร่วมสมัยกันโดยเฉพาะดินแดนล้านนา พบการกล่าวถึงชื่อนักษัตรด้วยเช่นกัน อาทิ จารึกวัดพระยืน (ลพ. ๓๘) อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย จุลศักราช ๗๓๒*** ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๐ กล่าวว่า “...เมื่อท่านเป็นเจ้ามานั้นในปีระกา เดือนเจียง...” และจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย (พะเยา) (ลพ.๙) อักษรฝักขาม ภาษาไทย พ.ศ. ๑๙๕๔ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘ ปรากฏคำว่า “ปีมะแม”
อีกทั้งในวัฒนธรรมล้านนามีคำในภาษาตระกูลไทเกี่ยวกับ ๑๒ นักษัตร เช่น ไจ้ (ชวด) เป้า (ฉลู) ยี่ (ขาล)... ฯลฯ และพบชื่อนักษัตรเหล่านี้ได้ตามจารึกในล้านนาหลายหลัก บางครั้งพบการนับปีนักษัตรทั้งแบบอิทธิพลเขมรและวันแบบไท เช่น จารึกหลักที่ ๓๘ จารึกกฎหมายลักษณะโจร อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ กล่าวว่า “...ศกฉลูนักษัตรไพสาขปุรณมีพฤหัสบดี หนไทย มื้อลวงเม้า...”
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนปีนักษัตรในทางโหราศาสตร์นั้นจะเปลี่ยนในดิถีขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ (เดือนเมษายน) เป็นวาระเปลี่ยนปีนักษัตรตามปฏิทินโหราศาสตร์ที่นับวันแบบจันทรคติ ซึ่งเป็นวิธีคิดของศาสนาพราหมณ์จากอินเดียระบุให้วันขึ้นปีใหม่เป็นเดือน ๕ จึงทำให้โหรเริ่มนับปีนักษัตรใหม่ที่เดือน ๕ ด้วยเช่นกัน ขณะที่การบันทึกปีนักษัตรลงในใบสูติบัตร และเอกสารทะเบียนราษฎร์นั้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะบันทึกตามปฏิทินหลวงที่นับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ และวันสุดท้ายของปีนักษัตรคือวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
สำหรับ พ.ศ. ๒๕๖๕**** นี้ ตรงกับปีนักษัตร ขาล หรือ เสือ (ยี่-ในภาษาถิ่นล้านนา) เป็นสัตว์สัญลักษณ์ลำดับที่สามในบรรดาสัตว์ทั้ง ๑๒ ของรอบปีนักษัตร เสือเป็นสัตว์ที่คุ้นเคยของคนไทยมาเป็นเวลานาน ในเอกสารพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรี ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า วันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ (กุมภาพันธ์) มีเสือเข้ามากินคนที่วัดบางยี่เรือ (ปัจจุบันคือวัดอินทารามวรวิหาร ธนบุรี) ขณะเดียวกันนามว่าเสือยังเป็นภาพแทนของความเด็ดขาด ดังเช่น พระราชสมญานาม พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ เช่น “พระเจ้าเสือ” (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘) ราชวงศ์บ้านพลูหลวง สมัยกรุงศรีอยุธยา “วังหน้าพระยาเสือ” (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เป็นต้น
นอกจากนี้ในกลุ่มชาวไทอาหม ก็เคยมีพระนามของกษัตริย์หลายพระองค์ที่ใช้คำว่าเสือ เช่น เสือล้ำฟ้า เสือไต้ฟ้า ฯลฯ และทหารที่มีความสามารถในการรบสูงก็มักจะเรียกกันว่า “ทหารเสือ” สอดคล้องกับวรรณคดีเช่น ขุนแผน จากเรื่องขุนช้างขุนแผน และหนุมาน จากเรื่องรามเกียรติ์ ทั้งสองตัวละครนี้มีประวัติว่าเกิดปีขาล
ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับเสือในสังคมไทย มีตัวอย่างเช่น พระเสาร์ (หรือศนิ) ซึ่งเป็นเทวดานพเคราะห์ประจำวันเสาร์ มีตำนานว่าพระอิศวรทรงสร้างขึ้นจากพยัคฆ์ (เสือ) ๑๐ ตัว บดเป็นผงห่อด้วยผ้าดำและพรมน้ำอมฤต จึงบังเกิดเป็นพระเสาร์ มีพระวรกายสีดำคล้ำ ทรงพยัคฆ์เป็นพาหนะ มีวิมานอยู่ทางทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) สัญลักษณ์แทนพระองค์คือเลข ๗ ในคติความเชื่อชาวจีน เสือ (หู่) ถือเป็นสัตว์ที่ปกป้องสิ่งชั่วร้ายและขจัดภูตผีปีศาจได้
ดังนั้น “เสือ “จึงเป็นภาพแทนของความดุร้ายและความแกร่งกล้า จิตรกรรมไทยมักปรากฏภาพเสืออยู่สองท่าทางคือ ภาพเสือขณะกำลังหมอบ กับเสือกำลังขย้ำเหยื่อ
*ดังนั้น พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีระยะเวลา ๙ เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม
**ระบบการนับปีแบบมหาศักราช ซึ่งมหาศักราช ๑๒๑๔ ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๓๕
***ระบบการนับปีแบบจุลศักราช ซึ่งจุลศักราช ๗๓๒ ตรงกับ พ.ศ. ๑๙๑๓
****ตรงกับ ปีจัตวาศก จุลศักราช ๑๓๘๔ และ รัตนโกสินทร์ศก ๒๔๑
อ้างอิง
กรมศิลปากร. จารึกล้านนาภาค ๒ เล่ม ๑ จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
กรมศิลปากร. เทวดานพเคราะห์. กรุงเทพฯ: เฮงศักดิ์มั่นคง, ๒๕๖๐.
กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพ ฯ: กองวรรณกรรม และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
กรมศิลปากร. ปฏิทินหลวงพระราชทานกับการกำหนดปีนักษัตรของไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๖๕, จาก: https://www.finearts.go.th/literatureandhistory/view/22641-ปฏิทินหลวงพระราชทานกับการกำหนดปีนักษัตรของไทย
พรพรรณ จันทโรนานทท์. ฮก ลก ซิ่ว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๗.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกกฎหมายลักษณะโจร. [ออนไลน์].สืบค้นเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๖๕, จาก: https://db.sac.or.th/inscript.../inscribe/image_detail/25196
ส. พลายน้อย (นามแฝง). สิบสองนักษัตร. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.๒.๑๙/๔. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เรื่อง วินิจฉัย จุลศักราช รัตนโกสินทร์ศก (๑๙ พ.ย. ๒๔๖๖).