ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ ประติมากรรมประดับจุกภาชนะสมัยทวารวดี

      ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ : ประติมากรรมประดับจุกภาชนะสมัยทวารวดี

      ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์จำนวน ๒ ชิ้น พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง




      ชิ้นที่ ๑ ขนาดกว้าง ๓ เซนติเมตร สูง ๕.๗ เซนติเมตร สิงห์มีใบหน้ายาวรี ตากลมโตเบิกโพลง จมูกแบน รูจมูกใหญ่ แยกเขี้ยวยิงฟัน ใบหน้าดุร้าย มีแผงคอรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้น ตกแต่งด้วยเส้นขีด อยู่ในท่าหมอบบนฐานทรงกลมตกแต่งด้วยลายกลีบบัวหงาย บริเวณด้านข้างลำตัวทั้งสองด้านเจาะรูกลมทะลุถึงกัน อาจใช้สำหรับร้อยเชือก



       ชิ้นที่ ๒ ขนาดกว้าง ๕ เซนติเมตร สูง ๘.๕ เซนติเมตร สิงห์มีใบหน้ากลม มีตากลมโตเบิกโพลง จมูกแบน รูจมูกใหญ่ แยกเขี้ยวยิงฟัน ใบหน้าดุร้าย มีแผงคอรูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้นตกแต่งด้วยเส้นขีด อยู่ในท่านั่งบนฐานทรงกลมตกแต่งด้วยลายกลีบบัวหงาย ฐานส่วนล่างหักหายไป ระหว่างขาหน้าและขาหลังทั้งสองด้านเจาะรูกลมทะลุถึงกัน อาจใช้สำหรับร้อยเชือก

      สิงห์เป็นสัตว์มงคลที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ สง่างาม แข็งแกร่งและกล้าหาญ เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงที่มีอำนาจในการปกครองอย่างกษัตริย์หรือจักรพรรดิ ทั้งนี้ในคติความเชื่อทางด้านศาสนาพุทธ สิงห์เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระองค์ได้รับการขนานนามว่าเป็นสิงห์แห่งศากยวงศ์ 

       ประติมากรรมรูปสิงห์พบมากในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี นอกจากประติมากรรมดินเผา ๒ ชิ้นนี้แล้ว ที่เมืองโบราณอู่ทองยังพบตราดินเผารูปสิงห์อีกหลายชิ้น และยังพบประติมากรรมรูปสิงห์สำริดด้วย นอกจากนี้ยังพบรูปสิงห์ที่เป็นประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นประดับศาสนสถานตามแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี เช่น เจดีย์จุลประโทนและพระประโทนเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เขาคลังใน จังหวัดเพชรบูรณ์ บ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ ทุ่งเศรษฐี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

      สันนิษฐานว่าประติมากรรมรูปสิงห์ทั้ง ๒ ชิ้นนี้เป็นประติมากรรมที่ประดับอยู่บนจุกดินเผา ซึ่งใช้อุดปากภาชนะประเภทปากแคบหรือขวดที่มีความสำคัญ อาจใช้สำหรับบรรจุของที่ใช้ในพิธีกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ หรืออาจเป็นเครื่องใช้ของบุคคลชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองก็เป็นได้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ทอง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, ๒๕๔๕.

ดวงกมล  อนันต์วัชรกุล. “คติความเชื่อเรื่องสัตว์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมทวารวดี.” เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔.



Messenger