ปราสาทสด๊กก๊อกธม เมื่อแสงตกกระทบ ช่วงเวลาบ่ายคล้อย เป็นปราสาททองคำ
ภาพและคำอธิบายภาพโดย : นายเมธาดล วิจักขณะ (รองอธิบดีกรมศิลปากร) 17 กุมภาพันธ์ 2561
ในพุทธศักราช ๒๔๖๓ เรียกว่า “ปราสาทเมืองพร้าว” ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๗๘ เรียกว่า “ปราสาทสล๊อกก๊อกธม” ปัจจุบันเรียกว่า “ปราสาทสด๊กก๊อกธม” คำว่า “สด๊กก๊อกธม” เป็นภาษาเขมร คำว่า “สด๊ก” มาจากคำว่า “สด๊อก” แปลว่า รก ทึบ คำว่า “ก๊อก” แปลว่า ต้นกก และคำว่า “ธม” แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น “สด๊กก๊อกธม” จึงแปลว่า รกไปด้วยต้นกกขนาดใหญ่
ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๕๙๕ รัชสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๕๙๓- ๑๖๐๙) เพื่อประทานแด่พระราชครูที่ลาสิกขาจากสมณเพศที่มีนามว่า “ศรีชเยนทรวรมัน”หรือ นามเดิมว่า “สทาศิวะ”โดยที่พระครูผู้นี้มีศักดิ์เป็นพระชามาดาของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๑ อีกทั้งยังเป็นผู้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกถวายแด่ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒
ปราสาทสด๊กก๊อกธม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมร ประกอบด้วยอาคารสำคัญ คือ ปราสาทประธาน บรรณาลัย ๒ หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคดและกำแพงแก้ว อาคารทั้งหมดก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง ซึ่งตกแต่งพื้นผิวในพื้นที่สำคัญด้วยการแกะสลักลวดลายลงบนเนื้อหินเป็นภาพเล่าเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์ฮินดูและพฤกษานานาพันธุ์ เทียบเคียงได้กับศิลปกรรมในวัฒนธรรมเขมรโบราณ แบบคลังผสมกับบาปวน กำหนดอายุได้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ศิลปะขอมแบบคลัง - บาปวน
ภาพ: แผนผัง / ภาพถ่ายทางอากาศ
ภาพ : แผนผังแสดงตำแหน่งของภาพสลักเล่าเรื่อง/ลวดลายที่ปรากฏ (ลำดับที่ ๑-๑๑)
ภาพสลักบริเวณหน้าบันและทับหลังบริเวณซุ้มประตู (โคปุระ) ของกำแพงแก้ว
๑. หน้าบันสลักภาพศิวนาฏราช
๒. ทับหลัง
๓. หน้าบันสลักภาพพระกฤษณะปราบช้างกุวัลปิถะ
๔. ทับหลัง
๕. หน้าบันสลักภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์
๖. ทับหลัง
๗. ทับหลัง
๘. หน้าบันสลักภาพพระกฤษณะปราบม้าเกศี
๙. หน้าบันสลักภาพศิวะคชาสูร
๑๐. ทับหลัง
๑๑. หน้าบันสลักภาพกวนเกษียรสมุทร
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมครั้งแรก ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ ต่อมาได้กำหนดเขตพื้นที่โบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔ ตอนพิเศษ ๘๑ ง วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๐ รวมพื้นที่โบราณสถาน ๖๔๑ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา
ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๐
การจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์
๑. กรมศิลปากรได้อนุรักษ์ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๓๖ - ๒๕๕๗ ตามหลักการอนุรักษ์และบูรณะโดยวิธีอนัสติโลซิส บนพื้นฐานของงานโบราณคดี
๒. ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เบื้องต้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยมีลานจอดรถ ห้องสุขา ซุ้มจำหน่ายของที่ระลึก ระบบน้ำ ระบบไฟ และดูแลความสะอาดภายในบริเวณปราสาท
๓. ปราสาทสด๊กก๊อกธมเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมโบราณสถานมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๕๘ โดยเฉลี่ย ๓,๐๐๐ คน/เดือน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งยังมิได้เก็บค่าธรรมเนียมเข้าชม
๔. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ปราสาทสด๊กก๊อกธม เชื่อมโยงกับปราสาทบันทายฉมาร์ และปราสาทบันทายทัพ ราชอาณาจักรกัมพูชา ผ่านทางรายการเดินหน้าประเทศไทยกับทูตานุทูต ๒๒ ประเทศ ทั้งในอาเซียน ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอเมริกา
๕. สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้ดำเนินการประสานจังหวัดสระแก้วตั้งคณะกรรมการพัฒนาเพิ่มศักยภาพโบราณสถานปราสาทสด๊กก๊อกธมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสู่อาเซียน เพื่อเตรียมรายละเอียดในการจัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ บริหารจัดการและปรับภูมิทัศน์เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งใหม่ ซึ่งมีมติที่ประชุมแล้ว เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๙
๖. สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้รับอนุมัติงบประมาณจากกรมศิลปากรเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ จำนวน ๑๐ ล้านบาท
๗. งบท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด เพื่อสร้างอาคารนิทรรศการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ