การแห่เทียนเข้าพรรษา
การแห่เทียนเข้าพรรษาประจำปี เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้านาน ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือของทางราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนพ่อค้า คหบดี ประชาชน มีการตกแต่งประดับประดาเทียนเข้าพรรษาด้วยขี้ผึ้งล้วนๆ บ้าง ด้วยเครื่องประดับอื่นๆ บ้าง แล้วนำขึ้นตั้งบนล้อเลื่อนหรือรถยนต์ ประกอบด้วยเครื่องสูง มีพัดโบกจามร ฉัตร และภาพเทพบุตร เทพธิดาในสวรรค์ชั้นฟ้าเหาะลงมาเพื่อประคับประคองเทียนเข้าพรรษา มีคติธรรมต่างๆ ที่เป็นเรื่องราวชาดก หรือเป็นคำสอนด้วยภาพ ด้วยข้อความ และคำโฆษณาอันประทับใจผู้ได้พบเห็นและได้ฟังแทบทั้งสิ้น
ก่อนวันงานที่วัดจะมีการละเล่น มหรสพหลายประเภท ฉลองเทียนเข้าพรรษา อาทิ ภาพยนตร์ ลิเก ลำตัด เพลงโคราช ฯลฯ ๑ คืน รุ่งขึ้นวัดต่างๆ ที่จัดเทียนเข้าพรรษาเข้าขบวนแห่ ต่างก็จะนำเทียนมารวมยังจุดศูนย์กลาง คือ หน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อพร้อมกันแล้วก็จะ ตั้งริ้วขบวนและแห่ไปตามถนนสำคัญหลายสาย ในตัวเมืองมารวมกันยังที่เดิม เพื่อรับการพิจารณาของคณะกรรมการจัดตั้งขึ้น ว่าเทียนเข้าพรรษาของวัดใดจะงดงามมีคติธรรมดี มีการตกแต่งเป็นเยี่ยมให้รับรางวัลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ตามลำดับ เทียนเข้าพรรษาที่เข้าขบวนแห่รองๆ ไป ก็มีรางวัลพิเศษให้ มีเงิน ข้าวสาร น้ำปลา น้ำมันก๊าส ตู้ยาตำราหลวง ใบชา ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และเครื่องใช้ไม้สอยอื่นๆ เป็นต้น เสร็จแล้ว ก็จะแยกขบวนกลับวัดของตน ทางราชการจะได้เชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เป็นผู้ถวายเทียนเข้าพรรษาตามวัดต่างๆ ต่อไป
พิธีแห่เทียนเข้าพรรษาจัดเป็นประเพณีใหญ่และขึ้นหน้าขึ้นตาของจังหวัดนี้ ในวันนั้นพุทธศาสนิกชนชาวนครราชสีมาทั้งเด็ก หนุ่มสาว และผู้ใหญ่ จำนวนหลายหมื่นคนจากทุกทิศทุกทาง แต่งกายโอ่อ่ามาชมขบวนแห่ ประเพณีการแห่แหนที่ว่านี้ เป็นการส่งเสริมศีลธรรมและวัฒนธรรมไปในตัวด้วย
อนึ่งแต่กาลก่อน ทางราชการได้จัดอย่างมโหฬาร มีนำช้าง ม้า ของขบวน ทั้งจัดให้มีการล่อช้าง ล่อม้า ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดด้วย ดังนั้นในบางปีบริเวณสนามจังหวัดจะคับแคบไป ทางราชการจึงจัดให้มีการฉลองเทียนเข้าพรรษาประจำปี ณ สนามหนองบัวหน้ากองบัญชาการทหารบกนครราชสีมาก็เคยทำ
จากหนังสือ จังหวัดนครราชสีมา (จัดพิมพ์ปี พ.ศ.๒๕๐๓)
(จำนวนผู้เข้าชม 3745 ครั้ง)