พระชัยเมืองนครราชสีมา

พระชัยเมืองนครราชสีมา

สถานที่เก็บรักษา  ห้องศิลปะอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

                พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบบนฐานเตี้ย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวสอดอยู่ใต้ชายรัดประคด พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระเนตรเบิกกว้าง กรอบพระพักตร์มีไรพระศกสองเส้น ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีทำเป็นรูปคล้ายหม้อน้ำ แบบศิลปะที่เรียกกันว่า “พระพุทธรูปอู่ทอง ๒” มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี รูปแบบอักษรประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ที่องค์พระโดยรอบ

                ด้านหน้า : ที่พระอังสกุฏด้านซ้ายจารึกตัวอักษร จ ที่พระนลาฏจารึกตัวอักษร ภ ที่พระศอจารึกตัวอักษร ก ที่พระอังสกุฎด้านขาวจารึกตัวอักษร ส

                คำว่า จะ ภะ กะ สะ โบราณเรียกว่า คาถากาสลัก ในคัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะ แต่งโดยท่านรัตนปัญญาเถระ ให้ความหมายไว้ว่ากำเนิดจากพระพุทธธรรม มงคลสูงสุด ๓๘ ประการ อักษรแต่ละตัวย่อจากพุทธสุภาษิต ดังนี้

                จ  ย่อมาจาก  จช ทุชฺชนส˚สคฺค◦  จงหลีกเลี่ยงการคบคนพาล

                ภ  ย่อมาจาก  ภช สาธุสมาคม◦  จงคบหาสมาคมกับคนดี

                ก  ย่อมาจาก  กร ปุญฺญมโหรตฺต◦  จงทำความดีทุกวัน ทุกคืน ทุกลมหายใจ

                ส  ย่อมาจาก  สร นิจฺจมนิจฺจต◦  จงระลึกถึงความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของสิ่งทั้งปวงตามธรรมชามติ

                ที่พระอุระด้านซ้ายและขวา

                แถวที่ ๑ จารึกอักษร ๖ ตัว คือ อุ ก ส ถ สา ร◦

                แถวที่ ๒ จารึกอักษร ๗ ตัว คือ พ ก อุ ก ผ สา ร◦

                แถวที่ ๓ จารึกอักษร ๓ ตัว คือ อิ สวา สุ

                ย่อมาจาก อิติปิโส ภควา, สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม, สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ หัวใจพระรัตนตรัย พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

                ด้านซ้าย : พระพาหาด้านซ้าย จารึกอักษร ๔ ตัว คือ น ม พ ท พระพาหาด้านขวา จารึกอักษร ๔ ตัว คือ จ พ ก ส

                ด้านหลัง : ตามแนวสังฆาฏิตั้งแต่พระอังสกุฏด้านซ้ายลงมา จารึกอักษร ๕ ตัว คือ น โม พุทฺ ธา ย

                คำว่า “นโม พุทฺธาย” นั้น เป็นคาถาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ จารึกย่อนามพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่ทรงอุบัติในภัทรกัลป์นี้ คือ

                น  หมายถึง พระกกุสันโธ ใช้เขียนแทนอาโปธาตุ ธาตุน้ำ มีกำลัง ๑๒

                โม  หมายถึง พระโกนาคม ใช้เขียนแทนปฐวีธาตุ ธาตุดิน มีกำลัง ๒๑

                พุท  หมายถึง พระกัสสปะ ใช้เขียนแทนเตโชธาตุ ธาตุไป มีกำลัง ๖

                ธา  หมายถึง พระสมณะโคดม ใช้เขียนแทน วาโยธาตุ ธาตุลม มีกำลัง ๗

                ย  หมายถึง พระศรีอารยเมตไตรย ใช้เขียนแทนอากาศธาตุ มีกำลัง ๑๐

                เมื่อรวมกำลังธาตุทั้ง ๕ ก็จะเป็นคุณพระพุทธเจ้า ๕๖ การที่ใช้นามของพระพุทธเจ้าเขียนเป็นพระคาถาในยันต์ของพระเกจิอาจารย์แต่ละองค์จึงนิยมคำว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” มาใช้เป็นพระคาถา และเรียกว่าคาถาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ หรือแม่ธาตุใหญ่ มีพุทธคุณเหนือยันต์ทั้งปวงรวมทั้งมีความเชื่อสืบต่อกันว่า ผู้ใดที่ท่องหรือบริกรรมพระคาถาบทนี้ด้วยจิตอันสงบและมั่นคงแล้วจะมีพุทธคุณคุ้มครองครอบจักรวาล

                พระชัยบางครั้งเขียนว่า “พระไชย” เป็นพระพุทธรูปสำคัญมาแต่บรรพกาล ปรากฏในพระราชพงศาวดารตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นามพระชัยมีความหมายว่า ชัยชนะ เนื่องด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายเพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ สร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีความหมายว่า ปราบมารได้ชัยชนะ นอกจากนี้ใช้ตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เรียกว่าพระชัยพิธี สำหรับขจัดอุปสรรคอำนวยให้การพิธีสำเร็จผล

(จำนวนผู้เข้าชม 30454 ครั้ง)