...

ศิลาจารึกบ้านพันดุง (Ban Phan Doong Stone Inscription)

ศิลาจารึกบ้านพันดุง

เลขทะเบียน ๐๙/๓๒/๒๕๓๐

อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔

หินทราย ขนาด สูง ๖๒ เซนติเมตร กว้าง ๗๖ เซนติเมตร หนา ๑๒.๕ เซนติเมตร

พบที่ บ้านพันดุง ตำบลพันดุง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา

          เป็นแผ่นหิน ด้านบนสลักเป็นรูปทรงโค้งแบบกลีบบัว จารึกด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวน ๑ ด้าน มี ๑๐ บรรทัด ข้อความจารึกสองบรรทัดแรกกล่าวถึง ความนอบน้อมต่อพระศิวะ อันเป็นที่เคารพสักการะของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์

          สองบรรทัดต่อไปกล่าวถึงท่านผู้เป็นปราชญ์ คงหมายถึง พระศรีวัตสะ เพราะมีการระบุนามอย่างชัดเจนในสองบรรทัดต่อไปได้สร้างรูปพระหริหระประทับที่ภูเขาซึ่งมีกระแสน้ำไหลแรง คงหมายถึง ภูเขาที่มีน้ำตกไว้ประจำอาศรมพร้อมเทวรูปอื่นๆ

          สองบรรทัดที่สาม พระศรีวัตสะได้ถวายวัตถุสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่อาศรม พร้อมทั้งมอบประชาชนจำนวนหนึ่ง ให้เป็นผู้ดูแลรับใช้ในอาศรมด้วย ในสองบรรทัดเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงเหล่าพระมุนีทั้งหลายได้สร้างอาศรมไว้เพราะมีน้ำบริบูรณ์ ทั้งได้สร้างรูปพระสุคตไว้ในอาศรมตามความคิดของฤษี

          สองบรรทัดที่สี่กล่าวถึงพราหมณ์ศรีธีธรรมาตกะ และสวามีศรีศิญชระ ได้ฝึกฝนในการบำเพ็ญตบะและการเจริญโยคสมาธิ

          สองบรรทัดสุดท้ายซึ่งมีความสำคัญมาก จารึกได้กล่าวถึงการสร้างพระสุคตประติมาไว้ในเมือง ข้อความต่อไปในบรรทัดเดียวกันนี้ อักษรจารึกชำรุดหายไป จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างพระสุคตประติมา จะเป็นพระศรีวัตสะ พระมุนีพราหมณ์ศรีธีธรรมาตมกะหรือสวามีศรีศิญชระ และในเมืองนี้ก็มิอาจทราบได้ว่าเป็นเมืองอะไร เพราะอักษรชำรุดดังกล่าว

          บรรทัดสุดท้ายของจารึก ระบุวัน เดือน ปี ที่สร้างพระสุคตประติมาไว้ในเมืองว่าเป็นวันเสาร์ เดือน ๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีศักราช ๗๕๑ (พ.ศ. ๑๓๗๒)

 

Ban Phan Doong Stone Inscription

Registration No. 09/32/2530

Dvaravati Style, ca 9th century

Sandstone, Height 62 cm. Width 76 cm.

 

Found at Ban Phan Doong, Kham Talay Sor district, Nakhon Ratchasima province, transferred to Maha Viravong National Museum in 1987

          Ban Phan Doong Stone Inscription, Sanskrit written in Pallava Alphabet. The inscription refers to Phra Sri Wat Sa who donated a Harihara sculpture (representing a combined image of Vishnu and Shiva) at the mountain for the hermitage, and who also provided goods and people. Importantly, the last phrase referres to the creation of the Phra Sukata Prathima sculpture and indicates its creation time; Saturday, 1372 B.E. (829 A.D.)

(จำนวนผู้เข้าชม 2318 ครั้ง)


Messenger