พระพุทธรูปยืน
เลขทะเบียน ๐๙/๑๕/๒๕๓๒
ศิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔- ๑๕
หินทราย ขนาด สูง ๑๕๕ เซนติเมตร กว้าง ๕๒ เซนติเมตร
พบที่ บ้านดอนขวาง ตำบลทัพรั้ง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา
ประติมากรรมชิ้นนี้พบที่บ้านดอนขวาง หมู่ ๓ ตำบลทัพรั้ง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา โดยกรมทหารช่างที่ ๑๑ ชุดปฏิบัติการที่ ๒ โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง (อีสานเขียว) ในขณะขุดลอก ลำห้วยยาง พบเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๒ และมอบให้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์
พระพุทธรูปยืน พระองค์ตั้งตรง พระหัตถ์และพระบาทหักหายไปทั้งสองข้าง พระเศียรและพระชงฆ์หักเป็นสองท่อนต่อไว้ พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงนูนต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรนูนเหลือบมองต่ำ พระนาสิกได้รูป พระโอษฐ์สลักเป็นร่องลงไปและแสดงอาการยิ้ม พระกรรณค่อนข้างยาว ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดขนาดใหญ่ อุษณีษะนูนขึ้นมา บริเวณพระกรสลักเป็นร่องสำหรับนำเดือยส่วนพระหัตถ์ที่หักหายไปแล้วนั้น มาสวมเข้ากันอีกที ทรงแสดงปางวิตรรกะ (ประทานธรรม) ครองจีวรห่มคลุม ขอบจีวรด้านหน้าตกลงมาเป็นวงโค้งเหนือขอบสบง ซึ่งตกลงมาตรงๆ ถึงข้อพระบาท ส่วนขอบจีวรด้านข้างผายออกทั้งสองด้านแสดงความได้สัดส่วนอย่างแท้จริง สำหรับพระพุทธรูปแบบทวารวดีมักสลักด้วยศิลา แต่ที่หล่อด้วยสำริดก็มีบ้างเช่นกัน ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ วัฒนธรรมทวารดีเจริญแพร่หลายอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาหลักและได้แผ่ขยายเข้ามาสู่ภาคอีสาน และคงอยู่จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งวัฒนธรรมทวารวดีนั้นได้รับต้นแบบจากประเทศอินเดีย เช่น ศิลปะอมราวดี ศิลปะคุปตะ และได้ถูกผสมผสานเข้ากับศิลปะท้องถิ่น
Standing Buddha Image
Registration No. 09/15/2532
Dvaravati Style, ca. 9th - 10th century
Sandstone, Height 155 cm. Width 52 cm.
Found by 11th engineer regiment while dredging the Lum Huay Yang (Yang canal) at Ban Donkhwang, Tap-rang sub-district, Noenthai district, Nakhon Ratchasima Province on 11th May 1989. It was later transferred to the Maha Viravong National Museum.
The Buddha is standing in the upright position, with both hands missing. The standing Buddha is in the double Vitarkamudra. His face is slightly square, the eyebrows connect above the nose, eyes are downcast, he has a small nose, smiling lip and long ears (now missing). Hair is in large curls with a cone-shaped knot. The robe is worn on both shoulders. The outer edge falls from the wrists in a curved line and is u-shaped above the shins.
In about the 7th century Theravada Buddhism practiced by the Dvaravati people from the central Chao Phraya basin, was a religion held in high esteem on the Isan Plateau until circa 11th century, ca. The Dvaravati style derived from Indian archetypes such as Amaravati and Gupta styles, and was integrated with local style.
(จำนวนผู้เข้าชม 1955 ครั้ง)