พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา
เลขทะเบียน ๐๙/๓๑๗/๒๔๙๗
ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘
หินทราย ขนาด สูง ๔๖ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๖ เซนติเมตร
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ประทานให้กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐
พระไภษัชยคุรุประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวหงาย พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยม พระขนงเป็นเส้นตรง พระเนตรเปิด พระนาสิกค่อนข้างโด่ง พระโอษฐ์แสดงอาการยิ้ม พระกรรณยาวสวมกุณฑลหรือตุ้มหู และสวมศิราภรณ์คล้ายมงกุฎ มุ่นมวยพระเกศาทรงกรวยแหลมรูปกลีบบัวซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ พระหัตถ์ทรงถือวัตถุคล้ายหม้อน้ำมนต์ยกขึ้นอยู่ระดับพระอุระ
พระไภษัชยคุรุหรือพระพุทธเจ้าแพทย์ เป็นหนึ่งในพระพุทธเจ้าของศาสนาพุทธนิกายมหายาน เป็นพระพุทธเจ้าที่มีผู้นิยมนับถือมากที่สุดพระองค์หนึ่งในประเทศจีน ธิเบต มีประวัติความเป็นมาว่า เมื่อครั้งพระไภษัชยคุรุเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งปณิธานไว้ที่จะช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกายและทางใจ และให้สรรพสัตว์มีชีวิตยืนยาว
สำหรับประติมากรรมรูปพระไภษัชยคุรุมักพบอยู่ในอโรคยศาลหรือโรงพยาบาล ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โดยเป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าผู้ป่วยเจ็บปวดส่วนใดของร่างกาย เช่น ปวดตา ก็ให้ลูบบริเวณพระเนตรของพระไภษัชยคุรุ ก็จะหายจากอาการเจ็บปวด
จากลักษณะของกรอบกระบังหน้าของศิราภรณ์และฐานบัว แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรแบบบายน (พ.ศ.๑๗๒๐ – พ.ศ.๑๗๗๓)
Phra Bhaisajyaguru Vaitoonprapha (Medicine Buddha)
Registration No. 09/317/2497
Lopburi Art, ca. 13th century
Sandstone, Height 46 cm. Width26 cm.
Donated by Somdet Phra Maha Viravong to the Fine Arts Department in 1927.
This statue, Phra Bhaisajyaguru Vaitoonprapha or Medicine Buddha, is shown sitting with his hand raised to chest level while holding a holy water container. His face is square with connected eye brows and downcast eyes, he has a pointed nose, smiling lips, long ears with earrings and wears a crown. He is sitting on a lotus base. The design of the crown and lotus base shows the influence of the Khmer Bayon art style (1177 – 1230).
The sculpture was usually found in Khmer temples said to have been used as hospitals during Khmer King Jayavarman VII’s time. It is believed that bodily pain such as an eye ache, for example, can be cured by touching the eye of Phra Bhaisajyaguru Vaitoonprapha.
(จำนวนผู้เข้าชม 2458 ครั้ง)