โครงการจัดการความรู้พื้นฐานการประพันธ์ร้อยกรองไทย
กรมศิลปากร โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ
เรื่อง “พื้นฐานการประพันธ์ร้อยกรองไทย”(การประพันธ์โคลง) ในวันพุธที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓
เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖. ๓๐ น. ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ
“ร้อยกรอง” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน จำแนกด้วยฉันทลักษณ์ออกเป็น ๕ ชนิด คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย ทุกชนิดมีแบบแผน ข้อบังคับ และรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน กวีมีการนำรูปแบบฉันทลักษณ์ต่างๆ มาประพันธ์เป็นเรื่องราวหลากหลายรูปแบบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลายเรื่องเป็นวรรณคดีสำคัญของชาติ ผู้ที่จะเข้าใจและเข้าถึงภาษาและวรรณคดีของชาติจึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับร้อยกรองไทยแบบต่างๆ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จึงจัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับร้อยกรองไทยประเภทโคลง แก่ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เป็นการส่งเสริมให้ผู้ศึกษาด้านภาษาและวรรณกรรมไทยมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าของวรรณกรรมร้อยกรองประเภทโคลงมากยิ่งขึ้น
การอบรมประกอบด้วยการอภิปรายเรื่อง “โคลงภาคเหนือและโคลงอีสาน” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภณ สมจิตศรีปัญญา ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง “โคลงภาคกลาง” โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ “ภาคปฏิบัติการการแต่งคำประพันธ์ :โคลง” โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ และนายวัฒนะ บุญจับ
ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมฯได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ โทร. ๐ ๒๖๒๘ ๕๐๒๑ ต่อ ๕๑๔ – ๕๑๖ ภายในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๓
(จำนวนผู้เข้าชม 1669 ครั้ง)