การผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในสยาม
องค์ความรู้ เรื่อง การผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในสยาม
การผ่าตัดตามหลักวิชาการแพทย์แผนตะวันตก เป็นวิทยาการการแพทย์ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ผู้คน ตลอดจนการแพทย์และสาธารณสุขไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งการรักษาโดยวิธีการนี้เริ่มเป็นที่สนใจและยอมรับในสังคมไทยอย่างกว้างขวางขึ้น ภายหลังจากนายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์ (Dan Beach Bradly) หรือ หมอบรัดเลย์ แพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้ทำการผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในสยาม เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๙
การผ่าตัดครั้งนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ปืนใหญ่ที่ใช้จุดไฟพะเนียง ในงานเฉลิมฉลองวัดประยุรวงศาวาสเกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) จึงขอให้หมอบรัดเลย์ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุไปรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ ซึ่งคนเจ็บส่วนใหญ่เลือกรักษากับหมอไทยเท่านั้น แต่มีผู้บาดเจ็บเพียง ๒ ราย ที่ยินยอมให้หมอบรัดเลย์ทำการรักษา ในจำนวนนี้คือ พระภิกษุรูปหนึ่งที่กระดูกแขนแตก จำเป็นต้องตัดแขนทิ้ง หมอบรัดเลย์จึงได้ผ่าตัดแขนพระภิกษุรูปนั้นในที่เกิดเหตุนั่นเอง ซึ่งในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะสามารถตัดอวัยวะออกจากร่างกายมนุษย์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ทำอันตรายแก่ชีวิต เนื่องจากไม่เคยปรากฏวิธีการรักษาเช่นนี้ในระบบการแพทย์ไทยมาก่อน ความสำเร็จของการผ่าตัดครั้งนั้นจึงเป็นที่เลื่องลือกันมากในสังคมไทย สร้างความน่าเชื่อถือให้กับหมอบรัดเลย์และทำให้การรักษาโดยวิธีผ่าตัดแบบตะวันตกเริ่มเป็นที่ยอมรับ ยังผลให้การแพทย์แบบตะวันตกเริ่มมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นในเวลาต่อมา
.....................
นางสาวระชา ภุชชงค์
นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ
กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ : ค้นคว้าเรียบเรียง
(จำนวนผู้เข้าชม 11037 ครั้ง)