...

วันอาสาฬหบูชา

องค์ความรู้ เรื่องวันอาสาฬหบูชา การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๘
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (ก่อนวันเข้าพรรษา ๑ วัน) ในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์
ที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ 
คำว่า “อาสาฬหบูชา” ย่อมาจากคำว่า “อาสาฬหบุรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ (ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง)
วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ในโอกาสเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์
ทรงประกาศพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก โดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร เป็นผลให้เกิดพระอริยสาวกสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา จึงถือได้ว่าเป็นวันแรกที่ครบองค์พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน ๖ หรือที่รู้จักว่าคือวันวิสาขบูชา 
ต่อมาทรงคำนึงว่า ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่เคยมีอุปการคุณแก่พระองค์ จึงเสด็จออกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ถึงในตอนเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ประทับแรมอยู่กับปัญจวัคคีย์ ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือเดือนอาสาฬหะ พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ต่อจากนั้นทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ หลักความจริงของชีวิตที่จะช่วยให้คนพ้นจากห้วงความทุกข์ ๔ ประการ ได้แก่
ทุกข์  หมายถึง ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
สมุทัย หมายถึง เหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยากต่างๆ
นิโรธ   หมายถึง ความดับทุกข์ คือ นิพพาน
มรรค         หมายถึง ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแล้ว ท่านโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจหลักธรรมของพระพุทธองค์ก่อนผู้ใด จึงทูลขออุปสมบทเป็นคนแรก นับเป็น “ปฐมสาวก” พระพุทธองค์ประทานอนุญาต จึงนับว่าท่านโกณฑัญญะเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา
แต่เดิมวันนี้ไม่มีพิธีใดเป็นการพิเศษ คงเนื่องมาจากเป็นวันก่อนวันเข้าพรรษาเพียงวันเดียว 
และพุทธศาสนิกชนก็ทำบุญตักบาตรในวันพระเป็นปกติอยู่แล้ว ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๐๑ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ขณะดำรงตำแหน่งสังฆมนตรี ได้เสนอให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาอีกวันหนึ่ง คือ 
วันอาสาฬหบูชาหรือวันธรรมจักร ด้วยเป็นวันสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมที่เรียกว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการดังกล่าว และเสนอให้รัฐบาลเห็นชอบ จากนั้นจึงนำความกราบบังคมทูล
พระกรุณาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติ และต่อมาจึงออกประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ กำหนดระเบียบปฏิบัติการบำเพ็ญกุศลในวันอาสาฬหบูชาเพื่อให้ทุกวัด
ถือปฏิบัติโดยทั่วกัน สืบมาตราบจนถึงทุกวันนี้
.......................................................................
อรวรรณ ทรัพย์พลอย
นักอักษรศาสตร์เชี่ยวชาญ
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ 
(ประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี)
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ค้นคว้าเรียบเรียง 
....................
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วันอาสาฬหบูชา วัดสระกระเทียม
เครดิตภาพ ธวัชชัย  รามนัฎ

(จำนวนผู้เข้าชม 10397 ครั้ง)