เสี่ยงทาย
องค์ความรู้เรื่อง เสี่ยงทาย
การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแต่ละวันมักประสบกับความไม่แน่นอน และการเสี่ยงภัยต่าง ๆ นานา บางครั้งอาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจ หวั่นไหว และหวาดวิตกได้ มนุษย์จึงต้องหาวิธีการควบคุมขจัดความหวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านี้ โดยการพึ่งพาความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนาจเหนือธรรมชาติรวมทั้งไสยศาสตร์ เพราะเชื่อว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับความกลัวในจิตใจได้ รวมทั้งช่วยชี้นำการตัดสินใจในการกระทำต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินชีวิต การเสี่ยงทายจึงเป็นวิธีการรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์แสดงพฤติกรรมอยากค้นหาคำตอบจากคำทำนายโชคชะตา โดยตัดสินใจเลือกที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจใช้ฉลาก ใบเซียมซี หรือวิธีการอื่น ๆ
แม้การเสี่ยงทายจะมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไปบ้าง ตามวัฒนธรรมประเพณีคติความเชื่อของแต่ละชนชาติ แต่มีวัตถุประสงค์เหมือนกันคือ เพื่อค้นหาคำตอบจากคำทำนายในเรื่องที่มนุษย์ขาดความมั่นใจ และยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างจากสิ่งที่สงสัย ตั้งแต่เรื่องราวเล็ก ๆ น้อย เช่น เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไปจนถึงเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตคนหมู่มาก การเสี่ยงทายจึงเป็นขั้นตอนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมทั้งรัฐพิธี และประเพณีทั่วไป เช่น พระราชพิธีอาศยุช คือพระราชพิธีแข่งเรือ เสี่ยงทาย ที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีที่ประกอบขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร สนับสนุนส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพ คำทำนายที่ปรากฏในการพระราชพิธีนี้ มีหลักการสำคัญสองแนวทางคือ เพื่อสร้างความมั่นใจ สร้างขวัญและกำลังใจว่าการเกษตรกรรมซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในปีนั้นจะได้รับผลดี และ อีกแนวทางหนึ่งคือ เป็นการให้สติ มิใช่ให้รอคอยโชคชะตาดินฟ้าอากาศ แต่มุ่งให้เกิดการเตรียมพร้อมรับ แก้ไข หรือป้องกันสถานการณ์อันอาจเกิดขึ้น เช่น ปริมาณน้ำฝน น้ำมาก น้ำน้อย และศัตรูพืช เป็นต้น โดยเป็นการเสี่ยงทายที่มีคำทำนายที่ให้ทั้งกำลังใจ และให้สติไปพร้อม ๆ กัน
ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญในวัดจีน ศาลเจ้าจีนของคนไทยเชื้อสายจีนนั้น มีการเสี่ยงทายในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เสี่ยงเซียมซี ที่มีอุปกรณ์หลัก ๆ คือ ไม้ติ้ว และใบเซียมซี ที่มีคำทำนายเรื่องร้าย - ดี ในชีวิต เพื่อขอคำชี้แนะแนวทางจากคำทำนายโชคชะตาจากเทพเจ้า ซึ่งคำทานายนั้นบางครั้งอาจไม่ถูกใจ บางคนก็แก้เคล็ดโดยการนำใบเซียมซีที่ได้ไปคืนยังตู้บรรจุใบเซียมซี เสมือนว่าไม่มีคำทานายดังกล่าวเกิดขึ้น
ในวรรณคดีไทยมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเสี่ยงทายปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง เช่น ในบทละครเรื่องนางมโนราห์ครั้งกรุงเก่า เมื่อพระมารดานางมโนราห์ฝันร้าย จึงให้หาพระโหรามาเสี่ยงทายทำนายฝันโดยการ “แทงศาสตรา” หรือในบทละครเรื่องพระลอ พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนลงสรงเสี่ยงน้ำ เมื่อพระลอจะเดินทางไปหาพระเพื่อนพระแพง เมื่อเดินทางมาถึงแม่น้ำกาหลง ได้เสี่ยงน้ำหาทำนายว่าควรเดินทางต่อไปหรือไม่ ความว่า
“มากูจะเสี่ยงน้ำลองดู
ผิวะกูรอดฤทธิ์ผีสาง
น้ำใสจงไหลควั่งคว้าง
กูอับปางน้ำเฉนียนจงเวียนวนฯ”
เมื่อมนุษย์เราต้องการขวัญกำลังใจ และคำแนะนำประกอบการตัดสินใจในกิจการต่าง ๆ การเสี่ยงทายจึงเป็นประเพณีปฏิบัติของมนุษย์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน และจะคงอยู่ต่อไป เพราะเป็นพิธีกรรม และศาสตร์หนึ่งของเรื่องไสยศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาจากความหวาดกลัวของมนุษย์ไม่ว่ายุคสมัยไหน แม้ปัจจุบันจะมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นเพียงแค่ความเจริญทางวัตถุ และเทคโนโลยีแล้ว ก็ตาม ทว่าด้านจิตใจของมนุษย์ยังมีความหวั่นไหวหวาดกลัว ต้องการความมั่นใจ รวมทั้งมีความปรารถนาในสิ่งต่าง ๆ อีกมาก จึงพร้อมที่จะแสวงหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งการเสี่ยงทายนับเป็นรูปแบบหนึ่งที่ตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้
กมลพรรณ บุญสุทธิ์
นักอักษรศาสตร์ กลุ่มจารีตประเพณี ค้นคว้าเรียบเรียง
(จำนวนผู้เข้าชม 6438 ครั้ง)