หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร
เนื่องในอภิลักขิตสมัยครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะทรงสถาปนาสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ถาวรเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระราชดำริว่าประเทศสยามยังไม่มีหอสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือที่เป็นสมบัติของชาติเช่นเดียวกับนานาประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอสมุดซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ ๓ แห่ง ได้แก่ หอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธสาสนสังคหะ จัดตั้งเป็นหอสมุดสำหรับให้บริการประชาชนทั่วไป และพระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” โดยได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มีที่ทำการอยู่ที่หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง (ปัจจุบันคือ ศาลาสหทัยสมาคม)
หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร มีการบริหารจัดการโดยสภานายกและกรรมการ ๔ คน สภาสมัยแรกประกอบด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นสภานายก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาโบราณบุรานุรักษ์ และพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) เป็นกรรมการ นายออสการ์ แฟรงเฟิร์ตเตอร์ (Oscar Frankfurter) หัวหน้าบรรณารักษ์ของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ได้เขียนบันทึกเรื่องหอพระสมุดวชิรญาณฯ ไว้ในหนังสือเรื่อง “Twentieth Century Impressions of Siam: Its History, People, Commerce, Industries, and Resources” ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ว่า ในระยะแรกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครมีการจัดหนังสือแบ่งออกเป็น ๓ แผนก ได้แก่ แผนกหนังสือพระพุทธศาสนา แผนกหนังสือไทย และแผนกหนังสือทั่วไป (ซึ่งในหนังสือ “ตำนานหอพระสมุด หอพระมณเฑียรธรรม หอวชิรญาณ หอพุทธสาสนสังคหะ แลหอสมุดสำหรับพระนคร” จัดพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ เรียกว่า แผนกหนังสือต่างประเทศ) นอกจากหนังสือแล้วหอสมุดฯ ยังได้เก็บรักษาภาพถ่ายและตราประทับซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และประเพณี ตลอดจนเอกสารสำคัญของกระทรวงมหาดไทยและรายงานของรัฐบาลที่ออกโดยกรมต่าง ๆ
ใน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจากเดิมที่ตั้งอยู่ที่ศาลา
สหทัยสมาคม มาที่ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุเรียกว่า ตึกถาวรวัตถุ และได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙
ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่การให้บริการในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเป็น ๒ แห่งคือ หอพระสมุดวชิราวุธ เก็บรักษาและให้บริการหนังสือฉบับพิมพ์และหนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย ตู้ลายรดน้ำ ย้ายไปให้บริการที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระราชทานนามว่า หอพระสมุดวชิรญาณ และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอพระสมุดวชิรญาณและหอพระสมุดวชิราวุธ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙
ครั้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๖ กำหนดให้หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเป็นกองหอสมุด ขึ้นอยู่ในกรมศิลปากร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น หอสมุดแห่งชาติ
หอสมุดแห่งชาติได้พัฒนามาเป็นลำดับ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติเป็นอาคารทรงไทย สูง ๕ ชั้นขึ้นที่บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสน ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ และเริ่มให้บริการ ณ สถานที่แห่งใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสืออันมีค่าของชาติ เป็นหน่วยงานที่มีการวางรากฐานการจัดห้องสมุดตามมาตรฐานสากลหลายประการ เช่น การจัดทำหมวดหมู่หนังสือ บัตรรายการค้นหนังสือ บรรณานุกรม ฯลฯ ตลอดจนจัดพิมพ์หนังสือที่มีประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยเป็นอันมาก ยังผลให้คนไทยมีความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การศึกษาของชาติได้มีการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกับนานาอารยประเทศ
.................................................................................
ชรัตน์ สิงหเดชากุล
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มแปลและเรียบเรียง
(จำนวนผู้เข้าชม 12676 ครั้ง)