ความรู้วิชาผดุงครรภ์มีในสังคมไทยมานานแล้ว ดังปรากฏในตำราแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น คัมภีร์ปฐมจินดา กล่าวถึงการตั้งครรภ์ การดูแลครรภ์ การดูแลมารดาและทารกหลังคลอด คัมภีร์มหาโชตรัต กล่าวถึงโลหิตระดูสตรี คัมภีร์ฉันทศาสตร์ กล่าวถึงการดูน้ำนมดีและน้ำนมชั่ว ความรู้เหล่านี้มาจากการสังเกต ประสบการณ์ ผสมผสานกับศาสนาและความเชื่อ จนเกิดเป็นประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ เช่น การอยู่ไฟหลังคลอด การงดกินของแสลง เป็นต้น
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ วิชาผดุงครรภ์แผนตะวันตกเริ่มเผยแพร่เข้าสู่สังคมไทย โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือหมอบรัดเล มิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งได้แต่งตำราผดุงครรภ์แผนตะวันตกเป็นภาษาไทยพร้อมภาพประกอบ ชื่อว่า “คัมภีร์ครรภ์ทรักษา” พิมพ์เผยแพร่และแจกจ่ายแก่หมอหลวง ถือเป็นตำราแพทย์แผนตะวันตกเล่มแรก ๆ ของไทย
ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าจอมมารดาแพประสูติพระราชธิดาองค์แรก คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ และเกิดอาการไข้สูงขณะอยู่ไฟ จึงโปรดเกล้าฯ ให้หมอบรัดเลไปรักษาเจ้าจอมมารดาแพในพระตำหนักฝ่ายใน ซึ่งหมอบรัดเลก็ให้เจ้าจอมมารดาแพเลิกอยู่ไฟทันที และรักษาตามวิชาผดุงครรภ์แผนตะวันตก จนเจ้าจอมมารดาแพมีอาการดีขึ้น เป็นที่พอพระราชหฤทัย
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของหมอบรัดเลในการรักษาเจ้าจอมมารดาแพครั้งนั้นไม่ได้ทำให้สตรีในราชสำนักเปลี่ยนไปใช้การผดุงครรภ์แผนตะวันตกแต่อย่างใด แม้แต่เจ้าจอมมารดาแพเองก็ยังคงใช้วิธีอยู่ไฟในการประสูติพระราชโอรสธิดาองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในคราวประสูติพระราชธิดาองค์ที่ ๕ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบรรจบเบญจมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยอาการเลือดออกในมดลูก เนื่องจากรกติดค้างอยู่ แม้จะโปรดเกล้าฯ ให้หมอบรัดเลไปช่วยรักษาจนสามารถดึงรกออกมาได้ แต่ก็ไม่อาจรักษาชีวิตของเจ้าจอมมารดาแพเอาไว้ได้
ดังนั้นในระยะแรก การผดุงครรภ์แผนตะวันตกไม่ได้รับความนิยมในสยาม เนื่องจากไม่สอดคล้องกับความเชื่อเดิม โดยเฉพาะการปฏิเสธการอยู่ไฟ ซึ่งเป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน ทำให้ราษฎรเกรงกลัวผลร้ายที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้อยู่ไฟ
ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้เกิดเหตุการณ์อันเป็นมูลเหตุให้การผดุงครรภ์แผนตะวันตกได้รับความนิยมมากขึ้นในสมัยต่อมา กล่าวคือ เมื่อครั้งที่พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ มีโอรสองค์แรกกับหม่อมเปี่ยม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ หม่อมเปี่ยมได้อยู่ไฟจนถึงแก่กรรม นับแต่นั้นมา พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงห้ามไม่ให้หม่อมอยู่ไฟเมื่อประสูติโอรสธิดา และเปลี่ยนไปใช้วิธีผดุงครรภ์แผนตะวันตกแทน ปรากฏว่าปลอดภัยสบายดีทุกคราว
ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ให้ทรงเห็นคุณประโยชน์ของวิธีผดุงครรภ์แผนตะวันตก และทำให้มีพระราชดำริจะเปลี่ยนแปลงวิธีการผดุงครรภ์ในราชสำนัก ครั้นเมื่อพระองค์มีพระประสูติการสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลิกอยู่ไฟ และให้หมอเกาแวนพยาบาลตามวิธีผดุงครรภ์แผนตะวันตก ปรากฏผลเป็นที่พอพระราชหฤทัย ตั้งแต่นั้นมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกการอยู่ไฟในพระบรมมหาราชวัง และพวกผู้ดีมีบรรดาศักดิ์นอกวังก็เริ่มทำตามมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะนั้น โรงศิริราชพยาบาลต้องการใช้วิธีผดุงครรภ์แผนตะวันตกกับผู้ที่มาคลอดบุตรในโรงศิริราชพยาบาลด้วยเช่นกัน แต่ราษฎรยังไม่นิยมเพราะยังคงกลัวผลร้ายจากการไม่อยู่ไฟ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งชี้แจงแก่ผู้ที่ไปคลอดบุตรในโรงศิริราชพยาบาลว่า พระองค์ทรงเคยอยู่ไฟมาก่อน แล้วทรงเปลี่ยนมาใช้วิธีผดุงครรภ์แผนตะวันตก ทรงสบายกว่าอยู่ไฟมาก จึงทรงชักชวนให้ราษฎรทำตาม และพระราชทานเงินทำขวัญลูกให้ผู้ที่ทำตามพระองค์คนละ ๔ บาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมากในสมัยนั้น ราษฎรจึงสมัครใจใช้วิธีผดุงครรภ์แผนตะวันตกมากขึ้น จนไม่เหลือผู้ที่ขอรับการอยู่ไฟในโรงศิริราชพยาบาลอีก
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ยังโปรดให้พระบำบัดสรรพโรค (หมอฮานส์ อดัมเซน) จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลใน พ.ศ. ๒๔๓๙ ทำให้มีผู้เข้ารับการศึกษาวิชาผดุงครรภ์แผนตะวันตกเพิ่มขึ้นทุกปี และออกรักษาพยาบาลราษฎรอยู่ทั่วไป ทั้งยังมีการผลิตและเผยแพร่ตำราแพทย์และผดุงครรภ์สำหรับคนทั่วไป ทำให้การแพทย์และผดุงครรภ์แผนตะวันตกแพร่หลายในหมู่ราษฎรมากขึ้น จนกลายเป็นวิธีหลักในการพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ในที่สุด ส่วนการผดุงครรภ์แผนไทยและการอยู่ไฟก็ได้รับการปรับปรุงให้ถูกหลักวิชาและเหมาะกับกาลสมัยยิ่งขึ้น จนเป็นการแพทย์ทางเลือกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย
นายธันวา วงศ์เสงี่ยม
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ
กลุ่มประวัติศาสตร์
(จำนวนผู้เข้าชม 1669 ครั้ง)