องค์ความรู้ : สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย
สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยตั้งอยู่ถนนเจริญกรุง ซอยกัปตันบุช เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นสถานเอกอัครราชทูตที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร ประวัติความเป็นมาเริ่มจากใน พ.ศ. ๒๓๖๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาแด่สมเด็จพระราชินีมาเรียแห่งโปรตุเกสเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของโรงสินค้า และเป็นที่พักของกงสุลโปรตุเกสคนแรก คือ คาร์ลูช มานุเอล ดา ซิลเวย์รา (Carlos Manuel da Silveira) อาคารหลังแรกสร้างด้วยไม้ไผ่ ใช้ไม้คาน ไม้ระแนง และฉาบด้วยปูนปลาสเตอร์ เป็นสถานที่กว้างขวาง ทาสีขาวสะอาดตา ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม และมีชาวโปรตุเกสพำนักอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบ
ในเวลาต่อมาอาคารดังกล่าวเริ่มมีสภาพทรุดโทรม เมื่อนายอิสิโดรุ ฟรันซิชกุ กิมาเรยช์ (Izidoro Francisco Guimarães) ท่านผู้ว่าราชการแห่งมาเก๊าและรัฐมนตรีผู้ได้รับอำนาจโดยสมบูรณ์จากโปรตุเกสในประเทศจีน ญี่ปุ่นและสยาม เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ จึงได้ริเริ่มให้มีการบูรณะอาคารหลังดังกล่าวในพ.ศ. ๒๔๐๓ ซึ่งขณะนั้นนายอันตอนิอุ เฟรดึริกุ มอร์ (António Frederico Moor) ดำรงตำแหน่งกงสุลโปรตุเกสประจำราชอาณาจักรสยาม แต่งานบูรณะดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงเมื่อกงสุลมอร์หมดวาระใน พ.ศ. ๒๔๑๐ จนกระทั่งนายอันตอนิอุ ฟึลิซิอานุ มาร์เคช ปึเรย์รา (António Feliciano Marques Pereira) กงสุลโปรตุเกสประจำราชอาณาจักรสยามคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๘ เขาได้ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานก่อสร้างอาคารเสร็จสิ้นลงได้โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจสั่งการในมาเก๊า โดยมีนายลูอิฌ มารีอา ฌาวิเอร์ (Luiz Maria Xavier) ผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส – ไทยและดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกระทรวงการคลังผู้มีฐานะให้การสนับสนุนด้านการเงินในเบื้องต้น โดยมีการลงนามสัญญาก่อสร้างในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๘ และใช้เวลาก่อสร้างส่วนต่าง ๆ ของสถานกงสุลเป็นเวลา ๕ เดือนจึงแล้วเสร็จ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๘
สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสหลังปัจจุบันเป็นอาคาร ๒ ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบโคโลเนียล หลังคาทรงปั้นหยา บริเวณทางเข้ามีมุขหลังคาจั่วอยู่กึ่งกลางด้านหน้า อันแสดงถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบนีโอ ปัลลาเดียน (Neo-Palladian) หน้าจั่วประดับตราแผ่นดินของประเทศโปรตุเกส ซุ้มทางเข้าชั้นล่างและซุ้มหน้าต่างชั้นบนของมุขทางเข้าทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน ๓ ซุ้ม แต่ละซุ้มคั่นด้วยเสาอิง ภายในอาคารชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่ ชั้นบนมีระเบียงยาวตลอดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทางเข้าประดับกระเบื้องเซรามิกลายครามจากโปรตุเกส
อาคารหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชนจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๗ และแม้จะมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงพื้นที่หลายครั้ง แต่ตัวอาคารและภูมิทัศน์โดยรอบยังคงได้รับการอนุรักษ์ให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด รวมทั้งดัดแปลงให้เหมาะสมต่อการใช้งานได้อย่างลงตัวและทันสมัย ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ใช้เป็นทำเนียบทูตโดยตัวอาคารยังคงไว้ซึ่งความงดงามและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อันสะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและโปรตุเกสที่ดำรงมาอย่างยาวนานกว่า ๕๐๐ ปี
------------------------------------
เรียบเรียงโดย น.ส. รัตติกาล สร้อยทอง
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มแปลและเรียบเรียง
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
(จำนวนผู้เข้าชม 3673 ครั้ง)