ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า : ความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า หรือประเพณีทานฟืน เป็นหนึ่งในประเพณีสิบสองเดือนของล้านนา จัดขึ้นในเดือนสี่ภาคเหนือ หรือเดือนยี่ภาคกลาง (ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม) ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือน ความหมายของชื่อประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า มีดังนี้
“ทาน” คือ การให้
“หลัว” คือ ฟืนที่นำมาเป็นเชื้อก่อไฟ
“หิง” คือ การผิง
สำหรับคำว่า “พระเจ้า” คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่นี้ หมายรวมถึง พระพุทธรูป ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้าเกิดจากความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงฤดูหนาวพระพุทธรูปก็หนาวเช่นเดียวกันกับมนุษย์ จึงนำหลัวมาจุดไฟให้ผิงเพื่อให้คลายหนาว
วิธีการหาหลัว (ฟืน) มาใช้ในประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้านั้น เมื่อใกล้ถึงวันที่จะประกอบพิธี เจ้าอาวาสของวัดนั้น ๆ จะให้พระภิกษุ สามเณร ลูกศิษย์ไปหาหลัวตามป่า ทั้งนี้ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงกับวัดที่ประสงค์จะไปร่วมงานก็จะช่วยกันหาไม้มาด้วย ในปัจจุบันไม้ในป่าหายากมากขึ้น ชาวบ้านจึงนำไม้ในสวนมาใช้แทน หลังจากเตรียมหลัวเรียบร้อยแล้ว ต้องเตรียมพานข้าวตอกดอกไม้ ฟืนที่จะถวายทำเป็นท่อนยาวประมาณ ๑ วา (คือประมาณ ๒ เมตร) จำนวน ๑ มัด หากถวายตอนเช้าหรือเพล ต้องจัดเตรียมอาหารถวายพระสงฆ์ด้วย ถ้าถวายตอนเย็นไม่ต้องถวายอาหาร นำเครื่องสักการะไปวัด ไหว้พระ รับศีลจากพระสงฆ์ แล้วกล่าวคำถวาย หลังจากนั้นนำฟืนที่เตรียมไว้เข้าประเคนหน้าพระพุทธรูปประธาน อีกทั้ง อาจนำกรวยดอกไม้ หรือที่ชาวล้านนาออกเสียงว่า สวยดอกไม้ (สวยดอก) เข้าประเคนพระสงฆ์ และขอพร
การเผาบูชาเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า กระทำในวันถัดมา เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ – ๐๕.๐๐ น. ขั้นตอนนี้สมภาร (เจ้าอาวาส) เป็นผู้จุดไฟที่กองหลัวหิงไฟพระเจ้าเป็นรูปแรกพร้อมกับตีฆ้อง ๓ ครั้ง เพื่อประกาศแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงให้ได้รับทราบและร่วมกันอนุโมทนาบุญ หลังจากก่อกองไฟไปสักพัก ไม้ไผ่ที่อยู่ข้างในจะระเบิดขึ้นทำให้เกิดเสียงดัง เป็นเครื่องเตือนให้ชาวบ้านตื่นมาจัดเตรียมอาหารเพื่อมาทำบุญที่วัด
ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้ามีคุณค่าในด้านต่าง ๆ หลายประการ อาทิ เป็นประเพณีที่ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวบ้าน และหมู่พระสงฆ์ อีกทั้งประเพณีนี้ยังมีคุณค่าทางด้านจิตใจคือ ผู้ปฏิบัติมีความสุข และมีความสบายใจ
ภาพประกอบ : การเผาบูชาในประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า
ที่มาของภาพประกอบ : นายศักดิ์นรินทร์ ชาวงิ้ว
นางสาวรุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ค้นคว้าเรียบเรียง
(จำนวนผู้เข้าชม 7393 ครั้ง)