...

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า
ประเพณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า คือ ประเพณีทานข้าวใหม่ ซึ่งนิยมจัดงานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ภาคเหนือ หรือเดือนยี่ภาคกลาง (ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม) เช่นเดียวกับประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้าซึ่งเคยนำเสนอไปแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเพณีที่สืบเนื่องกัน เมื่อชาวบ้านได้ยินสัญญาณที่เกิดจากไม้ไผ่ระเบิด ก็จะจัดเตรียมอาหารไปทำบุญที่วัด และมีการประกอบประเพณีทานข้าวใหม่ คือการนำข้าวใหม่หลังการเก็บเกี่ยวมาถวายพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ก่อนที่ตนเองจะนำไปบริโภค แสดงถึงความนอบน้อมคารวะต่อศาสนาพุทธที่เป็นที่พึ่งทางใจและเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อาหารที่นำไปใช้ในประเพณีทานข้าวใหม่ในช่วงเช้าของวันเพ็ญเดือนสี่ คือ ข้าวจี่ เป็นข้าวเหนียวที่นึ่งสุกปั้นติดกับปลายไม้ไผ่แล้วนำมาปิ้งไฟ อาจโรยเกลือเพื่อเพิ่มรสชาติ หรือชุบไข่ให้หอมอร่อยยิ่งขึ้น แล้วนำไปถวายพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ โดยอาจปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ใส่กระทงแล้ววางถวายหน้าพระพุทธรูปในวัด หรือนำไปใส่บาตรของพระสงฆ์ บางทีก็มีการทำข้าวหลามมาถวายด้วย บางวัดจัดพิธีกวนข้าวมธุปายาสที่บางแห่งนิยมเรียกว่า “ข้าวทิพย์” ซึ่งข้าวมธุปายาส คือ ข้าวหุงด้วยน้ำนมเจือน้ำผึ้ง ใช้เป็นของหวานในงานรื่นเริง ข้าวที่นิยมนำมาใช้ในพิธีกวนข้าวมธุปายาสเป็นข้าวใหม่หลังการเก็บเกี่ยว การจัดพิธีนี้เพื่อให้คล้ายคลึงกับพุทธตำนานที่นางสุชาดากวนข้าวทิพย์ถวายพระพุทธเจ้าก่อนการตรัสรู้ธรรม การถวายข้าวทิพย์นิยมทำเป็นก้อนจำนวน ๔๙ ก้อนเช่นเดียวกับที่นางสุชาดาถวายพระพุทธเจ้า หลังจากพิธีกวนข้าวทิพย์ บางวัดจะมีการทำพิธีสวดเบิกอบรมสมโภชพระพุทธรูปองค์เดิมที่อยู่ที่วัด หรือเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ ปัจจุบันเรียกว่า พิธีพุทธาภิเษก


นอกจากนี้ยังมีประเพณีทานข้าวล้นบาตร คือ การที่ชาวบ้านนำผลผลิตข้าวที่ได้ในปีนั้น ๆ มาถวายพระรัตนตรัยและให้แก่พ่อแม่ปู่ย่าตายายผู้ที่มีพระคุณได้รับประทานก่อน สำหรับการถวายข้าวแก่พระรัตนตรัยนั้น ชาวบ้านจะนำข้าวสารและข้าวเปลือกไปถวายวัดโดยกองไว้ที่หน้าพระประธานในวิหาร ที่หน้าพระประธานจะปูเสื่อไว้ ๒ จุด เพื่อแยกเป็นข้าวเปลือก ๑ กอง ข้าวสาร ๑ กอง แต่ละจุดจะมีบาตรตั้งไว้ตรงกลาง ชาวบ้านจะนำข้าวของตนมาใส่ในบาตร เมื่อข้าวกองสูงมากขึ้นจะมีผู้นำบาตรจากข้างล่างมาวางบนกองข้าว เมื่อข้าวเต็มบาตรข้าวจะล้นออกมา จึงเป็นที่มาของชื่อประเพณีว่า “ประเพณีทานข้าวล้นบาตร” บางแห่งเรียกว่า “ประเพณีดอยข้าว” เพราะกองข้าวจะสูงคล้ายภูเขา เมื่อเสร็จพิธีการที่วัด ชาวบ้านจะนำสำรับกับข้าวไปมอบให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่อยู่ต่างเรือนเป็นการแสดงความกตัญญู ในส่วนของข้าวที่วัดได้รับจากชาวบ้าน คณะกรรมการวัดจะแบ่งข้าวสารส่วนหนึ่งไว้ที่วัดเพื่อใช้นึ่งหรือหุงเลี้ยงพระภิกษุสามเณร และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปขายเพื่อนำปัจจัยเข้าวัด ประเพณีนี้จึงเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยการนำผลผลิตมาถวายให้วัด

ภาพประกอบ : ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า และประเพณีทานข้าวล้นบาตรหรือประเพณีดอยข้าว วัดห้วยริน ตำบลช่างเคิ้ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
ที่มาของภาพประกอบ : นายศักดิ์นรินทร์ ชาวงิ้ว

นางสาวรุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ค้นคว้าเรียบเรียง
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 1380 ครั้ง)