เอกสารจดหมายเหตุ กับการสำรวจทางโบราณคดีใต้น้ำ : กรณี"เรือล่มที่เกาะมัน"
เอกสารจดหมายเหตุ กับการสำรวจทางโบราณคดีใต้น้ำ
: กรณี"เรือล่มที่เกาะมัน"
เอกสารจดหมายเหตุ เป็นเอกสารสำคัญระดับปฐมภูมิ ที่น่าเชื่อถือได้จนสามารถใช้เป็นหลักฐานในฐานะ"พยาน"ได้เป็นอย่างดี
ใน พ.ศ.2546 หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้รับมอบเอกสารสำคัญ พร้อมกับกรมศิลปากรได้ขอใช้อาคารโบราณสถาน"ศาลารัฐบาลมณฑลจันทบุรี"จากจังหวัดจันทบุรี ให้เป็นสำนักงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
เอกสารสำคัญดังกล่าวจำนวนกว่าล้านหน้าได้รับการประเมินตามมาตรฐานงานจดหมายเหตุแล้วมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์สมควรได้รับการคัดเลือกเป็น"เอกสารจดหมายเหตุ" อายุของเอกสารชุดนี้เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2449 ถึง พ.ศ.2522
ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานต่อเนื่องกัน ดังนั้นเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์จึงได้รับการบันทึกไว้ ยกตัวอย่างเอกสารเรื่อง"เรือล่มที่เกาะมัน" เป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับแหล่งขุดค้นใต้น้ำของกองโบราณคดีใต้น้ำ ที่ต้องการศึกษาค้นคว้า เพราะเกี่ยวข้องกับเรือเมล์ที่จมอยู่บริเวณหน้าเกาะมันนอก*จังหวัดระยอง
จากเอกสารจดหมายเหตุระบุว่า ใน พ.ศ.2464
มีเรือกลไฟของบริษัทฝรั่งเศสชื่อ "แฟรนซิสกาเนียร์" หรือมีชื่อเรียกของลูกเรือว่า"เรือสิงห์โตเฮง /ชิงตงเฮง/โมโฮ"ซึ่งเป็นเรือเมล์บรรทุกคนและสินค้า ขึ้นล่องทางชายทะเลตะวันออก ระหว่างกรุงเทพฯถึงเกาะกง(เมืองปัจจันตคีรีเขตต์)เขตแดนของฝรั่งเศส
ระหว่างขากลับถึงบริเวณเกาะมัน จังหวัดระยอง เกิดพายุและคลื่นใหญ่ในทะเล ผู้ประสบภัย(พ่อครัวทำอาหารบนเรือ)เล่าว่า...เรือเมล์เที่ยวนี้เพียบมากกว่าทุกเที่ยว ...มีสินค้าเยอะมาก...บรรทุกอ้อยถึง4,000 ลำ...เรือเมล์แล่นพ้นจากเขาแหลมสิงห์ก็ถูกคลื่นและพายุบ้าง...เรือก็ตะแคงซ้ายมือบ้างแล้ว แต่ยังแล่นได้ต่อ...
...ห่างไกลจากเขาแหลมสิงห์มาก ที่ตรงนั้นจะเรียกว่าอะไรนั้นไม่รู้จักให้เกิดพายุจัดคลื่นใหญ่ เรือได้ตะแคง...
ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้สั่งการให้นายอำเภอแหลมสิงห์ สอบสวนเหตุการณ์ที่เรืออับปาง มีรายงานว่า...เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2464 เรือแฟรนซิสกาเนียร์ ได้ออกจากปากน้ำจันทบุรี เวลาประมาณเที่ยงคืน ครั้นเวลา 2 ก.ท.(ตี 2 :ผู้เขียน)เรือจมเพราะเหตุบรรทุกสินค้าเพียบ เมื่อเรือเดินไปถึงหน้าเกาะมันได้ถูกคลื่นแลลมจัด น้ำเข้าตอนท้ายไม่สามารถจะสูบเอาน้ำออกให้หมดได้ เรือจึงอับปางลงในเวลาประมาณ 40 นาที ไม่ได้โดนโสโครกอย่างใด...
ซึ่งตรงกับคำให้การของพยานหลายคนที่รอดตายได้ให้ปากคำกับตำรวจที่ดำเนินการสอบสวนในเรื่องนี้
จากเหตุการณ์เรือล่มในครั้งนี้ มีผู้โดยสารมากับเรือประมาณ 55 คน พบผู้ที่พ้นภัยแห่งเรืออับปาง 20 คน...
...เมื่อเวลาผ่านไปเป็นร้อยปี กระแสข่าวลือเรื่องเรือลำนี้จากปากของชาวบ้านระแวกนั้นกลายเป็น"เรือผีสิง"และขอให้กองโบราณคดีใต้น้ำไปช่วยตรวจสอบ
จึงเป็นที่มาของการสืบเสาะหาข้อเท็จจริงจากเอกสารจดหมายเหตุของนักโบราณคดีใต้น้ำ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการกู้คืนของเรือดังกล่าวเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป
ส่วนข้อสันนิษฐานถึงขนาดของเรือ ไม่มีระบุในเอกสาร และไม่มีรูปภาพ แต่เรือลำนี้เฉพาะกัปตันและคนงานที่อยู่เรือมีถึง 33 คน
*******************
*เกาะมัน มี 3 เกาะ ได้แก่ เกาะมันนอก เกาะมันใน และเกาะมันกลาง
ผู้เขียน
สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี
นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
เอกสารอ้างอิง
-หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี.(13)มท2.3.1/145 เอกสารกระทรวงมหาดไทยชุดมณฑลจันทบุรี.เรื่องเรือล่มที่เกาะมัน จังหวัดระยอง(พ.ศ2464)
-หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี.(13)มท2.3.1/146
เอกสารกระทรวงมหาดไทยชุดมณฑลจันทบุรี.เรื่องเรือเมล์แฟรนซีศกาเบียร์ของบริษัทฝรั่งเศสล่มที่น่าเกาะมัน เขตร์จังหวัดระยอง(พ.ศ2464)
ดาวน์โหลดไฟล์: เอกสารจดหมายเหตุ กับการสำรวจทางโบราณคดีใต้น้ำ-1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เอกสารจดหมายเหตุ กับการสำรวจทางโบราณคดีใต้น้ำ-2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เอกสารจดหมายเหตุ กับการสำรวจทางโบราณคดีใต้น้ำ-3.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 2157 ครั้ง)