โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

รายการโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

คัดสรรทั้งสิ้น ๑๕ รายการ ดังนี้

กลุ่มประติมากรรมใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดี

๑.



ใบเสมาหินทรายจำหลัก

จำหลักภาพพุทธประวัติ  ตอน  พิมพาพิลาป

ศิลปะทวารวดี  ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖

ทำจากหินทราย สูง ๑๙๐ ซม. กว้าง ๖๘ ซม. หนา ๒๓.๕ ซม.

พบได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  บ้านเสมา  ตำบลหนองแปน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

สลักภาพเล่าเรื่องไว้ที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว จำหลักภาพนูนต่ำ เรื่องราวของพุทธประวัติ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระบิดาและประยูรญาติ เหตุการณ์ในภาพสันนิษฐานว่าเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์เทศนาโปรดพระนางยโสธราหรือพระนางพิมพาที่พระตำหนัก พระนางยโสธราได้แสดงความเคารอย่างสูงด้วยการสยายพระเกศาเช็ดพระบาทพระพุทธองค์ โดยการสยายพระเกศารองรับพระบาทของพระพุทธเจ้านั้น  คือการแสดงความเคารพสูงสุดในวัฒนธรรมอินเดียโบราณ เป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม(Master piece) ชิ้นหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

 

 

๒.


ใบเสมาหินทรายจำหลัก

จำหลักภาพพุทธประวัติ  ตอน  ราหุลกุมารทูลขอราชสมบัติ

ศิลปะทวารวดี  พุทธศตวรรษที่  ๑๔ - ๑๖ 

ทำจากหินทราย สูง ๑๖๐ ซม. กว้าง ๗๔ ซม. หนา ๒๔ ซม.

พบได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  บ้านเสมา  ตำบลหนองแปน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

จำหลักภาพนูนต่ำ สันนิษฐานว่าเป็นพุทธประวัติ ตอน พระราหูลทูลขอพระราชสมบัติจากพระพุทธเจ้า ลักษณะพระพุทธรูปยืนในท่าตริภังค์ (ยืนเอียงตน) แสดงความอ่อนช้อยอันเป็นลักษณะที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดีย

 

๓.

ใบเสมาหินทรายจำหลัก

จำหลักภาพชาดก  ตอน  กุลาวกชาดก

ศิลปะทวารวดี  พุทธศตวรรษที่  ๑๕ - ๑๖ 

ทำจากหินทราย สูง ๘๓ ซม. กว้าง ๙๒ ซม. หนา ๒๑ ซม.

พบได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  บ้านเสมา  ตำบลหนองแปน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

จำหลักภาพนูนต่ำ ชาดก ตอน พระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นมาฆะมานพ ชายหนุ่ม ผู้หมั่นสร้างบุญกุศลร่วมกับภรรยา คือ นางสุจิตรา สุธรรมมา สุนันทา ส่วนนางสุชาดา ภรรยาอีกนางหนึ่ง ไม่ได้ร่วมสร้างกุศลใดๆเมื่อนางสิ้นชีวิตจึงไปเกิดเป็นนกยาง ในขณะที่มาฆะมานพพร้อมภรรยาทั้งสามเมื่อสิ้นชีวิตได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์และเทพธิดาบนสวรรค์

 

๔.



ใบเสมาหินทรายจำหลัก

จำหลักภาพชาดก  เรื่อง  เวสสันดรชาดก

ศิลปะทวารวดี  พุทธศตวรรษที่  ๑๔ - ๑๖ 

ทำจากหินทราย สูง ๑๕๐ ซม. กว้าง ๘๐ ซม. หนา ๒๔ ซม.

พบได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  บ้านเสมา ตำบลหนองแปน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

จำหลักภาพนูนต่ำ  หนึ่งในทศชาติชาดก พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะบรรลุเป็นพระสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นเจ้าชายเวสสันดรและได้ทรงบำเพ็ญทานบารมี ใบเสมาสลักเป็นตอนที่พระเวสสันดรชาดกทรงสนทนากับพระนางมัทรี โดยมีกัณหาและชาลีบรรทมอยู่

๕.



ใบเสมาหินทรายจำหลัก

ศิลปะทวารวดี  พุทธศตวรรษที่  ๑๔ - ๑๖ 

ทำจากหินทราย สูง ๑๖๙ ซม. กว้าง ๘๕ ซม. หนา ๒๐ ซม.

พบได้จากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  บ้านเสมา  ตำบลหนองแปน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

จำหลักภาพนูนต่ำ พุทธประวัติ ตอน โสตถิยพราหมณ์ถวายหญ้าคา โสตถิยพราหมณ์เป็นชายตัดหญ้า ได้พบกับพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความศรัทธา จึงถวายหญ้าคาจำนวน ๘ กำ และพระพุทธเจ้าได้ทรงปูรองเป็นอาสนะประทับบำเพ็ญเพียรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์

กลุ่มประติมากรรมพระโพธิสัตว์และเทวรูปในวัฒนธรรมขอม

๑.


พระวัชรธร

ศิลปะลพบุรี  แบบบายน พุทธศตวรรษที่  ๑๘

ทำจากหินทราย หน้าตักกว้าง ๓๗ ซม. สูง ๕๗ ซม.

พบจากการขุดแต่งกู่สันตรัตน์ บ้านกู่โนนเมือง ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

พระวัชรธรเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในบางนิกายของมหายาน ถือว่าเป็นองค์อาทิพุทธหรือผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าองค์อื่น สลักเป็นรูปเทพบุรุษประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานกลีบบัว พระหัตถ์ขวาทรงถือวัชระพระหัตถ์ซ้ายถือกระดิ่ง โดยหันทางส่วนด้ามที่ทำเป็นรูปกลีบบัวออกมาข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันอยู่ระดับพระนาภี(สะดือ) สวมกุณฑล(ตุ้มหู) และศิราภรณ์ทรงมงกุฎมีกระบังหน้า มักพบประดิษฐานอยู่ใน

อโรคยศาลหรือโรงพยาบาลสมัยโบราณ ร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบบายน

๒.



พระพุทธรูปนาคปรก

ศิลปะลพบุรี  พุทธศตวรรษที่ ๑๘

ทำจากหิทราย หน้าตักกว้าง ๔๖ ซม. สูง ๑๐๐ ซม.

พบจากการขุดแต่งกู่สันตรัตน์ บ้านกู่โนนเมือง ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

พระพุทธรูปนาคปรกประทับนั่งบนขนดนาค ๓ ชั้น ปลายสอบเข้าหากันด้านล่าง ด้านหลังเศียรพระพุทธองค์มีนาคแผ่พังพาน ๗ เศียร พระพุทธรูปสวมเทริดกระบังหน้าลายพรรณพฤกษา มีทรงกรวยทรงสูงครอบอุษณีษะ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ (พระหัตถ์ทั้งสองข้างหักหายไป แต่ยังมีร่องรอยของการประสานพระหัตถ์อยู่เหนือพระเพลา) ลักษณะศิลปะขอมแบบบายน

๓.


เทวรูปพระศิวะ

ศิลปะลพบุรี แบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ ๑๗

ทำจากหินทราย สูง ๑๗๕ ซม. ฐาน ๓๘ ซม.

พบจากการขุดแต่งกู่น้อย เมืองนครจำปาศรี บ้านโพธิ์ทอง ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

พระศิวะหรือพระอิศวร เป็นเทพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผู้มีหน้าที่ทำลายโลกเพื่อให้เกิดการสร้างขึ้นใหม่ เป็นเทพสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย มีพระเนตรที่สามกลางพระนลาฏ พระพักตร์ขรึม มีไรพระมัสสุ สวมกุณฑล(ตุ้มหู) สวมกรองศอ สวมเทริดกรอบกระบังหน้าลายพรรณพฤกษา มีกรวยทรงกระบอกครอบอุษณีษะ ลักษณะการนุ่งผ้าสั้น มีชายห้อยรูปคล้ายหางปลา ๒ ชั้น ร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบบาปวนและแบบนครวัด

๔.


พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ศิลปะแบบคลังร่วมสมัยบาปวน พุทธศตวรรษที่  ๑๗-๑๘

ทำจากสำริด สูง ๓๐ ซม.

พบที่กู่น้อย เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม        

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นประติมากรรมรูปบุคคล ถือดอกบัว หรือหม้อน้ำ มีรูปพระพุทธเจ้าอมิ-ตาภะอยู่บนมุ่นมวยผม เป็นพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนานิกายมหายานแห่งความเมตตากรุณา เป็นผู้คุ้มครองพระพุทธศาสนาอยู่ในยุคปัจจุบัน




พระนารายณ์ทรงครุฑ

ศิลปะแบบคลังร่วมสมัยบาปวน พุทธศตวรรษที่ ๑๘

ทำจากหินทราย สูง ๕๕ ซม. กว้าง ๒๘ ซม.

พบที่กู่แก้ว บ้านหัวสระ ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เทวรูปพระนารายณ์  เป็นเทพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เทพผู้มีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองโลก เป็นเทพสูงสุดในลัทธิไวษณพนิกาย จะอวตารลงมาปราบทุกข์เข็ญเมื่อยามโลกเดือดร้อน ประทับนั่งบนหลังครุฑซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์

 

กลุ่มพระพิมพ์ในวัฒนธรรมทวาราวดี

๑.



พระพิมพ์ดินเผา

ศิลปะทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

ทำจากดินเผา สูง ๑๕ ซม. กว้าง ๗.๕ ซม.

พบจากการขุดแต่งโบราณสถาน ในบริเวณที่ดินของนายทองดิน ปะวะภูตา บ้านนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

พระพิมพ์ดินเผารูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าทำเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม แผ่นหลังทำเป็นรูปซุ้มบัลลังก์ สันนาฐานว่าเป็นพระพิมพ์ดินเผาที่แสดงภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตอน ยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ตอนหนึ่งที่นิยมทำเป็นพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวาราวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เดิมสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการไปสักการะสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ในประเทศอินเดีย ภายหลังมีการสร้างขึ้นเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

๒.




พระพิมพ์ดินเผา

ศิลปะทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

ทำจากดินเผา สูง ๘.๓ ซม. กว้าง ๑๓.๕ ซม.

พบจากการขุดแต่งโบราณสถาน ในบริเวณที่ดินของนายทองดิน ปะวะภูตา บ้านนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

พระพิมพ์ดินเผารูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าทำเป็นภาพพระพุทธองค์ประทับยืนเอียงพระวรกายเล็กน้อยบนฐานบัว พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเกศาขมวดเป็นรูปวงกลม รัศมีทรงบัวตูม ประภามณฑลมีลักษณะคล้ายเปลวไฟ พระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม)  มีใบไม้แทรกเป็นลายอยู่บนพื้นหลัง ด้านข้างมีรูปบุคคล ๒ คน แต่งกายคล้ายบุคคลชั้นสูงยืนพนมมือหันหน้าเข้าหาพระพุทธองค์ เหนือรูปบุคคลทั้งสองทำเป็นรูปสถูปจำลอง ด้านบนสุดเหนือสถูปทำเป็นรูปวงกลม มีรัศมีโดยรอบ พระพิมพ์ดินเผานี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่พบในวัฒนธรรมทวาราวดีในโบราณสถานในเขตอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม  

๓.


พระพิมพ์ดินเผา

ศิลปะทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

ทำจากดินเผา สูง ๗.๗ ซม. กว้าง ๗.๓ ซม.

พบจากการขุดแต่งโบราณสถาน ในบริเวณที่ดินของนายทองดิน ปะวะภูตา บ้านนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

พระพิมพ์ดินเผารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำเป็นภาพพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิในแนวตั้งเรียงกัน  จำนวน ๙ แถว แถวละ ๖ องค์ รวมทั้งหมด ๕๔ องค์ สร้างขึ้นตามคติเกี่ยวกับพระอดีตพุทธเจ้า

๔.



พระพิมพ์ดินเผา

ศิลปะทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

ทำจากดินเผา สูง ๒๒.๕ ซม. กว้าง ๑๔ ซม.

พบที่โบราณสถานอุ่มญาคู เมืองกันทรวิชัย อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร อยู่บนฐานบัวหงายที่มีกลีบซ้อนกัน ๒ ชั้น พระองค์ประทับนั่งหลับพระเนตร พระเศียรก้มลงเล็กน้อย พระองค์มีประภามณฑลล้อมรอบคล้ายเปลวไฟมีขอบจีวรพาดผ่านข้อพระกรและพระโสภี ลักษณะทางศิลปะแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะปาละแบบอินเดียที่อาจส่งผ่านเข้ามาทางพม่า

๕.




พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ

ศิลปะทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

ทำจากดินเผา สูง ๑๔.๑ ซม. กว้าง ๘.๘ ซม.

พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  บ้านเสมา  ตำบลหนองแปน  อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

พระพิมพ์ดินเผารูปทรงโค้งมน ตอนกลางเป็นภาพพระพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว ครองจีวรห่มเฉียงคลุมพระอังสาซ้าย ทาสีแดงบนส่วนที่เป็นจีวรให้เห็นเด่นชัด พระพักตร์มีลักษณะเป็นแบบพื้นเมือง ลักษณะพระพักตร์และพุทธสรีระที่สันทัดสูงโปร่งแสดงถึงความเป็นพื้นเมืองอย่างขัดเจน อาจเป็นรูปแบบพระพิมพ์ดินเผาที่นิยมผลิตขึ้นเฉพาะที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  เนื่องจากไม่ปรากฏพระพิมพ์ดินเผาลักษณะเดียวกันที่เมืองโบราณแห่งอื่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

(จำนวนผู้เข้าชม 23994 ครั้ง)