ผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่จะได้ครองอำนาจ! ๕ ยุวกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ถูกผู้ใหญ่ฆ่าเรียบ!! โดย โรม บุนนาค
เมื่อพระเจ้าอู่ทองย้ายราชธานีจากเมืองอโยธยา ข้ามฟากแม่น้ำมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ.๑๘๙๓ โปรดเกล้าฯให้ขุนหลวงพงั่ว ซึ่งเป็นพี่มเหสี เป็น สมเด็จพระบรมราชาธิราช ไปครองเมืองสุพรรณบุรี และให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร ไปครองเมืองลพบุรี
พระเจ้าอู่ทองครองราชย์อยู่ ๒๐ ปีสวรรคต พระราเมศวร จึงเสด็จจากเมืองลพบุรี มาครองราชย์แทน
พระราเมศวรครองราชย์อยู่เกือบปี สมเด็จพระบรมราชาธิราช ผู้เป็นพระเชษฐาของพระมารดา ก็เสด็จมาจากเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระราเมศวรออกไปต้อนรับแล้วอัญเชิญเข้าพระนคร ถวายราชสมบัติให้ จากนั้นก็กลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม
สมเด็จพระบรมราชาธิราชครองราชย์อยู่ ๑๓ ปีสวรรคต เจ้าทองจันทร์ หรือ ทองลัน ราชโอรสวัย ๑๕ พรรษาขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งนับเป็นยุวกษัตริย์พระองค์แรกของกรุงศรีอยุธยา แต่ครองราชย์อยู่ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น พงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้ กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ ให้พิฆาตเสียวัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ”
พงศาวดารไม่ได้บันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ นอกจากสันนิษฐานได้ว่า ผู้ที่จะครองราชย์ได้ก็คือผู้ที่เข้มแข็งที่สุดในเวลานั้น และผู้ที่อ่อนแอกว่าก็จะต้องถูกกำจัดไปให้สิ้นปัญหา ไม่ปล่อยให้บ่มตัวจนกลับมาเป็นผู้เข้มแข็งขึ้นอีก
ยุวกษัตริย์องค์ต่อไปที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการช่วงชิงอำนาจ ก็คือ พระรัษฎาธิราช ผู้มีพระชนม์เพียง ๕ พรรษา
สมเด็จพระรัษฎาธิราชเป็นราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ซึ่งครองราชย์อยู่ ๔ ปีเศษก็สวรรคตด้วยโรคไข้ทรพิษ และไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ บรรดาขุนนางข้าราชการจึงอัญเชิญสมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร ซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษาขึ้นครองราชย์
เมื่อครองราชย์อยู่เพียง ๕ เดือนเศษ พระไชยราชา สมเด็จอาซึ่งเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรอันเกิดจากพระสนม และถูกส่งไปครองเมืองพิษณุโลก ก็ยกกองทัพมากรุงศรีอยุธยา จับสมเด็จพระรัษฎาธิราชไปประหารชีวิต ทั้งๆที่ตอนนั้นสมเด็จพระรัษฎาธิราชก็คงรู้เรื่องราวพอๆกับเด็ก ๕ ขวบ ยังไม่อาจเป็นพิษเป็นภัยกับใครได้ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อโตขึ้นมาแล้วจะมีฤทธิ์เดชอย่างใด หรืออาจจะถูกใครจับเชิดมาทวงราชบัลลังก์คืน จึงต้องกำจัดไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามต่อไป
ยุวกษัตริย์องค์ที่ ๓ ของกรุงศรีอยุธยาก็คือ พระยอดฟ้า ซึ่งก็ไม่แคล้วที่จะต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับยุวกษัตริย์ ๒ พระองค์แรก พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวไว้ว่า
“....ฝ่ายสมณพราหมณ์จารย์มุขมนตรี กวีราช นักปราชญ์ บัณฑิต โหราราชครูสโมสรพร้อมกันประชุมเชิญพระยอดฟ้าพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา เสด็จผ่านพิภพถวัลย์ราชประเพณีสืบศรีสุริยวงศ์อยุธยาต่อไป แล้วนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นสมเด็จพระชนนี ช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน....”
ความจริงแล้ว พระยอดฟ้าขึ้นครองราชย์ก็แต่ในนาม อำนาจทั้งหมดอยู่ในกำมือของเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ นางจึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน แต่การกำจัดพระยอดฟ้าก็เป็นความจำเป็น ด้วยเหตุที่นางได้ลอบลักสมัครสังวาสกับขุนวรวงศา และเรื่องกำลังอื้อฉาวขึ้นเรื่อยๆ แม้นางได้พยายามกำจัดข้าราชการที่เป็นปฏิปักษ์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีข้าราชการที่ไม่ยอมจงรักภักดีอีก ทั้งพระยอดฟ้าก็โตขึ้นทุกวัน อาจไปสมคบกับข้าราชการเหล่านั้น
พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้บันทึกไว้อีกว่า
“....ขณะนั้นนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ด้วยขุนวรวงศาธิราช จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสปรึกษาด้วยหมู่มุขมนตรีทั้งปวงว่า พระยอดฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่าก็ยังมิปกติ จะไว้ใจแต่ราชการมิได้ เราคิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น จะเห็นเป็นประการใด ท้าวพระยามุขมนตรีรู้พระอัชฌาสัยก็ทูลว่า ซึ่งตรัสโปรดมานี้ก็ควรอยู่....”
จากนั้นนางจึงมีเสาวนีย์ตรัสสั่งให้เอาราชยาน เครื่องสูงแตรสังข์กับขัตติยวงศ์ ออกไปรับขุนวรวงศาเข้ามาในพระราชวัง แล้วตั้งพระราชพิธีราชาภิเษก ยกขุนวรวงศาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนพระยอดฟ้า
จากนั้นชะตากรรมของยุวกษัตริย์อีกองค์ก็มาถึง เมื่อพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า
“ครั้นศักราช ๘๙๑ ปีฉลู เอกศก (พ.ศ.๒๐๗๒) ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ขุนวรวงศาธิราชเจ้าแผ่นดิน คิดกันกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ให้เอาพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพระยา แต่พระศรีศิลป์น้องชายพระชนม์ได้เจ็ดพรรษานั้นเลี้ยงไว้ สมเด็จพระยอดฟ้าอยู่ในราชสมบัติปีกับสองเดือน”
ขุนวรวงศาครองราชย์อยู่ได้เพียง ๔๒ วัน กรรมก็ตามทัน เหล่าขุนนางที่จงรักภักดีต่อแผ่นดิน ได้ร่วมกันวางแผนสังหารพร้อมทั้งเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และบุตรที่เกิดจากขุนวรวงศา
หลังสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระยอดฟ้าแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็ว่างเว้นยุวกษัตริย์เกือบ ๑๐๐ ปี จนในปี ๒๑๗๑ จึงมียุวกษัตริย์องค์ที่ ๔ คือ สมเด็จพระเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ในวัยเดียวกับพระเจ้าทองลัน ส่วนยุวกษัตริย์องค์ที่ ๕ ก็คือ สมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ ซึ่งถูกยกขึ้นเป็นกษัตริย์ขณะพระชนม์เพียง ๙ พรรษา ก็ไม่พ้นชะตากรรมยุวกษัตริย์อีกเช่นกัน ซึ่งผู้ที่กำจัดยุวกษัตริย์ ๒ รายหลังนี้ก็คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถที่เกิดจากผู้หญิงชาวบ้านเกาะบางปะอิน ซึ่งไม่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ แต่ก็เพราะความเด็ดขาดเข้มแข็งจึงไต่เต้าขึ้นสู่ราชบัลลังก์ได้ และครองราชย์อย่างยาวนานถึง ๒๕ ปี โดยปราศจากศัตรูทั้งภายนอกภายใน แม้พม่าข้าศึกก็ยังไม่กล้ามาระราน
การครองราชย์ ก็คือการครองอำนาจในการเป็นผู้นำประเทศ สมควรที่จะเป็นผู้เข้มแข็งที่สุด ในยุคกรุงศรีอยุธยาที่ประชาชนเป็นเพียงข้าแผ่นดิน ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงและไม่มีพลังทางการเมือง จึงไม่อาจคุ้มครองความชอบธรรมใดๆได้ ยุวกษัตริย์ผู้ยังอ่อนแอจึงไม่เหลือรอดแม้แต่พระองค์เดียว
(จำนวนผู้เข้าชม 33341 ครั้ง)