...

พระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองชากังราว : พระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
...
เมืองชากังราว เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยสุโขทัยในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. ๑๙๑๑) สืบเนื่องมายังหลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยอยุธยา ได้แก่ กฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. ๑๘๙๙ รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง) พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พ.ศ. ๒๒๒๓) พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (พ.ศ. ๒๓๓๘) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑)
..
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาและผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจนได้พระสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” โดยเรื่องเมืองชากังราวนั้นพระองค์ทรงวินิจฉัยไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และทรงพระนิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมในหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอ้างอิงจากพระราชพงศาวดาร และกฎหมายตราสามดวงว่า เมืองชากังราวเป็นเมืองเดิมของเมืองนครชุมซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำปิง ใต้ปากคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร
.
ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับเมืองชากังราวไว้ดังนี้
.
“...ข้าพเจ้าจะต้องอธิบายเรื่องชากังราวไว้ตรงนี้สักหน่อยหนึ่งด้วยยังไม่ได้พบอธิบายในที่อื่นว่า เมืองชากังราวเป็นเมืองไหนแน่ในปัจจุบันนี้ ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีเรื่องที่เกี่ยวแก่เมืองชากังราวหลายแห่ง ในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชนี้เป็นอย่างมาก แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐยังออกชื่อเสียงชากังราว ลงไปถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบแผนที่เข้ากับเรื่องที่มีมาในพระราชพงศาวดาร เห็นว่าเมืองชากังราวจะเป็นเมืองอื่นนอกจากเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ไม่ได้ และได้พบหลักฐานประกอบในพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เรียกชื่อเมืองชาวดงราว กำแพงเพชรควบกันไว้ดังนี้ (คำว่าชาดงราวนั้น เชื่อได้แน่ว่าผู้คัดลอกเขียนผิดมาจากชากังราวนั้นเอง) ที่เมืองกำแพงเพชรที่จริงมีเมืองตั้งติดต่อกันอยู่ถึง ๓ เมือง เมือง ๑ อยู่ข้างฝั่งตะวันตก ยังมีพระมหาธาตุอยู่ เมืองนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นเมืองเดิม ที่เรียกชื่อว่า “ชากังราว” ต่อมาสร้างเมืองขึ้นอีกเมืองข้างฝั่งตะวันออก เมืองนี้เห็นชื่อในจารึกของพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) เรียกว่าเมืองนครชุม มีวัดวาอารามใหญ่โต ซึ่งเป็นฝีมือสร้างครั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีอยู่หลายวัด ต่อมาเห็นจะเป็นด้วยเกิดเกาะขึ้นตรงหน้าเมืองนครชุม สายน้ำเปลี่ยนไปเดินข้างตะวันตก ทำให้เมืองนครปุเป็นเมืองดอนไป จึงสร้างเมืองกำแพงเพชรเดี๋ยวนี้ขึ้นที่ริมแม่น้ำหน้าเมืองนครชุม มีป้อมกำแพงอย่างแข็งแรงไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึก อยู่ตรงข้ามกับเมืองชากังราวเดิม ชาวข้างใต้คงจะเรียกชื่อเมืองชากังราวอยู่ตามเดิมโดยมาก โหรจึงใช้ชื่อนั้นจดลงในปูม และพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระรามาธิบดี จึงใช้ควบกันทั้งชื่อเก่าและชื่อใหม่ ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองชากังราวนั้น คือไปตีเมืองกำแพงเพชรเป็นแน่ ไม่มีที่สงสัย...”
..
ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมความตอนหนึ่งว่า
.
“...เรื่องเมืองกำแพงเพชรเก่าใหม่ตรวจในสมัยต่อมาได้ความดังนี้ ที่เรียกว่าเมือง “นครปุ” นั้น ที่ถูกคือเมือง “นครชุม” เพราะในจารึกเขียนว่า “นคระชุํ” ดังนี้ เมื่ออ่านกันชั้นแรกเข้าใจว่าชื่อนครปุ ต่อภายหลังจึงพิจารณาเห็นว่า ชุํเมืองนี้ เมืองเดิมที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมืองชากังราว ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชรที่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออกเป็นเมืองสร้างทีหลัง...”
..
จากพระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หากพิจารณาลำดับชื่อเมืองที่ถูกอ้างถึงจำนวนสองครั้งในเนื้อความบทพระอัยการลักษณะลักพาของกฎหมายตราสามดวง ไม่ได้ปรากฏการเรียงลำดับแบบเดียวกันทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นว่า ชื่อ “ชากังราว” ที่อยู่ติดกับคำว่า “กำแพงเพชร” นั้น ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงการเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กัน หรือเป็นชื่อเมืองเดียวกันแต่อย่างใด นอกจากนี้อาจเป็นเพียงการสื่อถึงกลุ่มเมืองในการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยอันห่างไกลจากอาณาจักรอยุธยา ส่วนเหตุการณ์สมัยพระบรมไตรนาถที่กล่าวถึงพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนามาตีเมืองชากังราวก่อนตีเมืองสุโขทัยในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์นั้น อนุมานได้ว่าเมืองชากังราวอยู่ใกล้ล้านนามากกว่าเมืองสุโขทัย อีกทั้งข้อความในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ ก็ปรากฏชื่อเมืองชากังราว และเมืองนครชุมในสมัยเดียวกัน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเมืองทั้งสองเป็นเมืองเดียวกัน
.
ทั้งนี้ไม่ว่าจากเอกสารกฎหมายตราสามดวง ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ หรือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ล้วนแต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้
...
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงมหาดไทย. (๒๕๐๕). สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และงานทางปกครองของพระองค์. โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมมหาดไทย.
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (๒๕๔๒). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรมศิลปากร.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. (2559). ศรีปัญญา.
ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (๒๕๕๙). โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ ๒). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๖๔). เที่ยวเมืองพระร่วง. ศรีปัญญา.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (๒๕๔๘). ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.













(จำนวนผู้เข้าชม 133 ครั้ง)


Messenger