...

เมืองชากังราวในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ฉบับพันจันทนุมาศ เจิม และฉบับพระราชหัตถเลขา
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองชากังราวในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับพระราชหัตถเลขา
...
เมืองชากังราว เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏชื่อในกฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. 1899 รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง) และศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1911 รัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)) นอกจากนี้ยังพบชื่อเมืองชากังราวในพระราชพงศาวดาร ได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
.
พระราชพงศาวดารเป็นหลักฐานชั้นรองหรือทุติยภูมิ (secondary source) หมายถึงหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ไม่ได้เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ
..
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์คำอธิบายในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกไว้ว่าพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ เป็นหนังสือพงศาวดารที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ เปรียญ) ได้มาจากบ้านราษฎรแห่งหนึ่ง เอามาให้แก่หอสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) ลายมือเขียนหนังสือลักษณะคล้ายสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือต้นรัตนโกสินทร์ โดยปรากฏบานแผนกกล่าวถึงการเรียบเรียงพระราชพงศาวดารฉบับนี้เมื่อ จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199 - 2231) ความว่า
.
“ศุภมัศดุ 1042 ศก (พ.ศ. 2223) วอกนักษัตร ณ วันพุธ เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ทรงพระกรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหราเขียนไว้แต่ก่อนและกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ และเหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดารนั้น ให้คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชมาคุงเท่าบัดนี้”
.
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์มีข้อความกล่าวถึงเมืองชากังราว จำนวน 5 ครั้ง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 โดยปรากฏในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) (ครองราชย์ พ.ศ. 1913 - 1925) จำนวน 4 ครั้ง และในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991 - 2031) จำนวน 1 ครั้ง ดังนี้
.
ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 1916 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จไปตีเมืองชากังราว ในครั้งนั้นมีพญาคำแหงเป็นเจ้าเมืองชากังราว
.
“...ศักราช 735 ฉลูศก (พ.ศ.1916) เสด็จไปเมืองชากัง (ราวแลพระญา) ใสแก้วแลพระญาคำแหงเจ้าเมืองชากังราว ออกต่อรบท่าน ๆ (ได้ฆ่าพระญา) ใสแก้วตาย แลพระญาคำแหงแลพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ แลทัพ (หลวง) เสด็จกลับคืนมา...”
.
ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 1919 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จไปตีเมืองชากังราว (ครั้งที่ 2)
.
“...ศักราช 738 มโรงศก (พ.ศ.1919) เสด็จไปเอาเมือง (ชากังราว) เล่า ครั้งนั้นพระญาคำแหงแลท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพ (หลวง แลจะ) ทำมิได้ แลท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี แลจึงเสด็จยกทัพหลวงตาม แลท้าวผ่าคองนั้นแตก แลจับได้ตัวท้าวพระญาแลเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน...”
.
ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 1921 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จไปตีเมืองชากังราว (ครั้งที่ 3) ในครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม สันนิษฐานว่ามหาธรรมราชาที่กล่าวถึงในข้อความ คือ พระมหาธรรมราชาที่ 2 (ลือไทย) (ครองราชย์ พ.ศ. 1911 - 1952)
.
“...ศักราช (740) มะเมียศก (พ.ศ.1921) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเปนสามารถ แลเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม...”
.
ครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เสด็จไปตีเมืองชากังราว (ครั้งที่ 4) แต่พระองค์ทรงพระประชวรจึงยกทัพกลับ และเสด็จสวรรคตระหว่างทาง
.
“...ศักราช 750 มะโรงศก (พ.ศ.1931) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก แลเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทางสมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน...”
.
ครั้งที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 1994 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏข้อความว่ามหาราชเสด็จมาตีเมืองชากังราวได้ จากนั้นไปตีเมืองสุโขทัย แต่ไม่สำเร็จจึงยกทัพกลับ สันนิษฐานว่ามหาราชที่กล่าวถึงคือพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา (ครองราชย์ พ.ศ. 1985 - 2031)
.
“...ศักราช 813 มะแมศก (พ.ศ.1994) ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขไทย เข้าปล้นเมืองมีได้ก็เลิกทัพกลับคืน...”
..
พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีบานแผนกกล่าวถึงการชำระพระราชพงศาวดารในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ตรงกับ พ.ศ. 2338 ความว่า
.
“...ศุภมัศดุศักราช 1157 (พ.ศ. 2338) ปีเถาะสัปตศก สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลราชณกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาเถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร... ”
.
พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเมืองชากังราว ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ยกทัพมาตีเมืองชากังราว จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
.
“...ศักราช 735 ปีฉลูเบญจศก (พ.ศ.1916) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว และพระยาไซ้แก้ว พระยากำแหง เจ้าเมืองออกต่อรบท่าน ๆ ได้ตัวพระยาไซ้แก้วตาย แต่พระยากำแหงและไพร่พลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงก็เสด็จกลับคืนมาพระนคร...”
.
“...ศักราช 738 ปีมะโรงอัฐศก (พ.ศ.1919) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว ได้พระยากำแหง และท้าวผากองคิดกันว่าจะยอทัพหลวง ทำมิได้ ท้าวผากองเลิกทัพหนี เสด็จยกทัพหลวงตามตีทัพท้าวผากองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วทัพหลวงเสด็จกลับคืน...”
.
“...ศักราช 740 ปีมะเมียสัมฤทธิ์ศก (พ.ศ.1921) ไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม...”
..
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์คำอธิบายในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกไว้ว่า พระราชพงศาวดารฉบับนี้ เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ พ.ศ. 2394 - 2411) โปรดให้ชำระขึ้นใหม่ เมื่อชำระแล้วนำต้นฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฉบับ 1 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรวจเห็นว่าไม่เรียบร้อยดี ทรงแก้ไข จึงปรากฏพระราชหัตถเลขาอยู่ในต้นฉบับ กรรมการหอพระสมุดจึงเห็นควรเรียกว่า “พระราชพงษาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา”  
.
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงเมืองชากังราว ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ยกทัพมาตีเมืองชากังราว จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
.
“...ศักราช 735 ปีฉลู เบญจศก (พ.ศ.1916) เสด็จไปเอาเมืองชากังราว และพระยาชัยแก้ว พระยากำแหง เจ้าเมืองออกต่อรบท่าน ๆ ได้พระยาชัยแก้วตาย แต่พระยากำแหงและไพร่พลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงก็เสด็จกลับคืนมาพระนคร...”
.
“...ศักราช 738 ปีมะโรง อัฐศก (พ.ศ.1919) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวได้ พระยากำแหง และท้าวผากองคิดกันว่า จะยอทัพหลวงทำมิได้ ท้าวผากองเลิกทัพหนี เสด็จยกตามตีทัพท้าวผากองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วทัพหลวงเสด็จกลับคืน...”
.
“...ศักราช 740 ปีมะเมีย สัมฤทธิศก (พ.ศ.1921) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาเมืองพระพิษณุโลกออกมาถวายบังคม...”
..
บานแผนกที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารทั้งสามจัดเรียงตามลำดับได้ดังนี้ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พ.ศ. 2223) พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (พ.ศ. 2338) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. 2394 – 2411) ซึ่งมีข้อความคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการยกทัพมาตีเมืองชากังราวครั้งที่ 1 – 3 ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ปรากฏข้อความเพิ่มขึ้นในครั้งที่ 4 และ 5 โดยเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองชากังราวในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แสดงถึงการเป็นเมืองสำคัญทางใดทางหนึ่งอันเป็นเหตุให้พระองค์ต้องขึ้นไปตีเมืองชากังราวถึง 4 ครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ส่วนครั้งที่ 5 กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าติโลกราชเสด็จมาตีเมืองชากังราวก่อนมายังเมืองสุโขทัย ทั้งนี้ไม่ว่าจากเอกสารกฎหมายตราสามดวง ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ หรือพระราชพงศาวดารทั้งสามฉบับดังกล่าว ล้วนแต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้ เพียงอนุมานได้ว่าเมืองชากังราวนั้นเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัยเท่านั้น
...
เอกสารอ้างอิง :
กรรมการหอสมุดวชิรญาณ. (2450). พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. โรงพิมพ์ไทย.
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (2542). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรมศิลปากร.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. (2559). ศรีปัญญา.
ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2559). โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ 2). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.
หอพระสมุดวชิรญาณ. (2455). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 1. ม.ป.พ.















(จำนวนผู้เข้าชม 954 ครั้ง)