เมืองชากังราวในจารึกสมัยสุโขทัย
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองชากังราวในจารึกสมัยสุโขทัย
..
เมืองชากังราว เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยพบชื่อเมืองนี้ในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1911) จัดเป็นหลักฐานชั้นต้นหรือปฐมภูมิ (primary source) อันเป็นหลักฐานที่ทำขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ
.
ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1911) เขียนเป็นภาษาไทยด้วยตัวอักษรไทยแบบสุโขทัย ศิลาจารึกหลักนี้เดิมอยู่เขาสุมนกูฏ (เขาพระบาทใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย) ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) (ครองราชย์ พ.ศ. 1890 - 1911) ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเมื่อ พ.ศ. 1902 เขาสุมนกูฏหรือสมนตกูฏ เป็นชื่อภูเขาสำคัญที่มีรอยพระพุทธบาทในศรีลังกา คือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “อาดัมสปีก” (Adam’s Peak) นั้น เขาสุมนกูฏในเมืองสุโขทัยคงเอาชื่อลังกามาสมมติเรียก สันนิษฐานว่าศิลาจารึกหลักนี้สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1902 – 1915
.
จารึกหลักนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงนำมาแต่เขาพระบาทใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2451 ขนาดสูง 90 เซนติเมตร กว้าง 31 เซนติเมตร ด้านข้าง 15 เซนติเมตร โดยจารึกหลักนี้มีจำนวน 4 ด้าน กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
.
จารึกด้านที่ 1 เป็นคำสรรเสริญรอยพระพุทธบาทที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ได้ประดิษฐานไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ
.
จารึกด้านที่ 2 เป็นเรื่องทำการสักการะบูชา ในเวลาที่แห่รอยพระพุทธบาทขึ้นบนเขาสุมนกูฏ
.
จารึกด้านที่ 3 เรื่องราวที่พออ่านได้คือพระยาศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ได้เสด็จไปปราบปรามหัวเมืองข้างทิศตะวันออกถึงแม่น้ำสัก แล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่เมืองสองแคว (เมืองพิษณุโลก) และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกไปในแผ่นดินนั้น
.
จารึกด้านที่ 4 ปรากฏชื่อเมือง “ชากังราว” ในบรรทัดที่ 6 – 21 ความว่า
.
“...มีทั้งชาวสระหลวงสองแควปากยม พระบางชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม เบื้องใ—เมืองพานเมือง--เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจายเป็นบริพาร จึงขึ้นมานบพระบาท ลักษณอันตนหากประดิษฐานแต่ก่อนเหนือจอมเขาสุมนกูฏนี้ จึงจารจารึกอันนี้ไว้อีกโสด”
..
ข้อความในจารึกกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏพร้อมกับชาวเมืองต่าง ๆ รวมถึงเมืองชากังราว ได้แก่ สระหลวงสองแคว ปากยม พระบาง สุพรรณภาว นครพระชุม เมืองพาน เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย ซึ่งเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรสุโขทัยในขณะนั้น และโปรดให้จารึกศิลาหลักนี้ โดยข้อความไม่ได้ระบุตำแหน่งเมืองชากังราวไว้แน่ชัดหรือแสดงการเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองใดทราบเพียงว่าเมืองชากังราวและเมืองที่กล่าวถึงเป็นกลุ่มเมืองในการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยเท่านั้น
...
เอกสารอ้างอิง
ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 2 (2482). มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2548). ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.
เมืองชากังราวในจารึกสมัยสุโขทัย
..
เมืองชากังราว เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยพบชื่อเมืองนี้ในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1911) จัดเป็นหลักฐานชั้นต้นหรือปฐมภูมิ (primary source) อันเป็นหลักฐานที่ทำขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ
.
ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1911) เขียนเป็นภาษาไทยด้วยตัวอักษรไทยแบบสุโขทัย ศิลาจารึกหลักนี้เดิมอยู่เขาสุมนกูฏ (เขาพระบาทใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย) ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) (ครองราชย์ พ.ศ. 1890 - 1911) ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเมื่อ พ.ศ. 1902 เขาสุมนกูฏหรือสมนตกูฏ เป็นชื่อภูเขาสำคัญที่มีรอยพระพุทธบาทในศรีลังกา คือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “อาดัมสปีก” (Adam’s Peak) นั้น เขาสุมนกูฏในเมืองสุโขทัยคงเอาชื่อลังกามาสมมติเรียก สันนิษฐานว่าศิลาจารึกหลักนี้สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 1902 – 1915
.
จารึกหลักนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงนำมาแต่เขาพระบาทใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. 2451 ขนาดสูง 90 เซนติเมตร กว้าง 31 เซนติเมตร ด้านข้าง 15 เซนติเมตร โดยจารึกหลักนี้มีจำนวน 4 ด้าน กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
.
จารึกด้านที่ 1 เป็นคำสรรเสริญรอยพระพุทธบาทที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ได้ประดิษฐานไว้บนยอดเขาสุมนกูฏ
.
จารึกด้านที่ 2 เป็นเรื่องทำการสักการะบูชา ในเวลาที่แห่รอยพระพุทธบาทขึ้นบนเขาสุมนกูฏ
.
จารึกด้านที่ 3 เรื่องราวที่พออ่านได้คือพระยาศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ได้เสด็จไปปราบปรามหัวเมืองข้างทิศตะวันออกถึงแม่น้ำสัก แล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่เมืองสองแคว (เมืองพิษณุโลก) และกล่าวถึงอาณาเขตเมืองสุโขทัยที่แผ่ออกไปในแผ่นดินนั้น
.
จารึกด้านที่ 4 ปรากฏชื่อเมือง “ชากังราว” ในบรรทัดที่ 6 – 21 ความว่า
.
“...มีทั้งชาวสระหลวงสองแควปากยม พระบางชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม เบื้องใ—เมืองพานเมือง--เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจายเป็นบริพาร จึงขึ้นมานบพระบาท ลักษณอันตนหากประดิษฐานแต่ก่อนเหนือจอมเขาสุมนกูฏนี้ จึงจารจารึกอันนี้ไว้อีกโสด”
..
ข้อความในจารึกกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏพร้อมกับชาวเมืองต่าง ๆ รวมถึงเมืองชากังราว ได้แก่ สระหลวงสองแคว ปากยม พระบาง สุพรรณภาว นครพระชุม เมืองพาน เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย ซึ่งเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรสุโขทัยในขณะนั้น และโปรดให้จารึกศิลาหลักนี้ โดยข้อความไม่ได้ระบุตำแหน่งเมืองชากังราวไว้แน่ชัดหรือแสดงการเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเมืองใดทราบเพียงว่าเมืองชากังราวและเมืองที่กล่าวถึงเป็นกลุ่มเมืองในการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยเท่านั้น
...
เอกสารอ้างอิง
ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 2 (2482). มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2548). ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.
(จำนวนผู้เข้าชม 1268 ครั้ง)