ร่องรอยศาสนาฮินดู ในเมืองกำแพงเพชร
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
ร่องรอยศาสนาฮินดู ในเมืองกำแพงเพชร
..
ฮินดูเป็นศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นในอินเดีย มีวิวัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์ เคารพบูชาตรีมูรติเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ พระอิศวรหรือพระศิวะ พระนารายณ์หรือพระวิษณุ และพระพรหม
.
เมืองกำแพงเพชรปรากฏศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก แต่จากบันทึกการสำรวจพบพระอิศวรที่ศาลพระอิศวรกลางเมืองกำแพงเพชรโดยนายแม็คคาธี นายสำรวจทำแผนที่ฯ เมื่อ พ.ศ. 2424 อีกทั้งภาพถ่ายครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449 ปรากฏภาพเทวรูปพระอิศวร เทวรูปบุคคลและเทวสตรีที่ศาลพระอิศวร เทวลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวของเมืองกำแพงเพชร
.
ศาลพระอิศวร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร กำหนดอายุได้พุทธศตวรรษที่ 21 จากจารึกรอบฐานเทวรูปพระอิศวรระบุปี พ.ศ. 2053 เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ฐานเขียงชั้นล่างสุดมีขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 29 เมตร สูง 1.6 เมตร ด้านตะวันออกมีบันไดศิลาแลงขนาดกว้าง 1.8 เมตร ยาว 4 เมตร บนฐานมีทางเดินศิลาแลงขนาดกว้าง 1 เมตร เป็นแนวยาวไปจนถึงบันไดสู่ฐานชั้นที่สอง
.
ฐานชั้นที่สอง มีขนาดกว้าง 3.3 เมตร ยาว 4.5 เมตร สูง 0.9 เมตร เป็นฐานประดิษฐานพระอิศวรจำลองลักษณะประทับยืนอยู่บนแท่นศิลาแลงขนาดกว้างด้านละ 1.2 เมตร สันนิษฐานว่าเครื่องบนหลังคาทำด้วยไม้และชำรุดหักหายไป
.
เทวรูปพระอิศวรสำริด ขนาดสูง 210 เซนติเมตร ลักษณะประทับยืนมี 1 เศียร 2 กร พระพักตร์รูปเหลี่ยม พระขนงเชื่อมต่อกันเหนือสันพระนาสิก พระโอษฐ์เม้มเป็นเส้นตรง ทรงไว้พระทาฐิกะ (เครา) เป็นรูปสามเหลี่ยม กลางพระนลาฏมีพระเนตรที่สาม สวมกระบังหน้า เกล้าพระเกศารูปทรงกระบอกปรากฏอุณาโลม ประดับกุณฑลที่พระกรรณ ด้านข้างพระเศียรมีกรรเจียก สวมกรองศอที่ประดับลายประจำยามและมีพวงอุบะขนาดเล็กห้อยตกลงมา ส่วนองค์ท่อนบนคล้องสายยัชโญปวีตและสวมพาหุรัดในรูปของนาค สวมทองพระกร ทองพระบาท พระธำมรงค์ทุกนิ้ว ทรงภูษาโจงกระเบนสั้นจีบเป็นริ้ว คาดทับด้วยเข็มขัดที่ประดับด้วยพวงอุบะขนาดเล็ก และชักขอบผ้านุ่งด้านบนให้แผ่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยมมีชายผ้าห้อยตกลงมาทางด้านหน้า รอบฐานเทวรูปปรากฏจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ระบุปีพุทธศักราช 2053 มีข้อความว่า
..
“ศักราช 1432 (ปี) มะเมียนักษัตร อาทิตย พารเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ได้หัสตฤกษ์ เพลารุ่งแล้ว 2 นาฬิกา จึงเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชรแลช่วยเลิกศาสนา พุทธศาสตร์แลไสยศาสตร์แลพระเทพกรรมมิให้หม่นให้หมองให้ เป็นอันหนึ่งอันเดียว แลซ่อมแปลงพระมหาธาตุแลวัดบริพารในเมืองนอกเมือง และที่แดนเหย้าเรือนถนนทลาอัน เป็นตรธานไปเถิงบางพานขุดแม่ไตรบางพร้อ อนึ่งแต่ก่อนย่อมขายวัวไปแก่ละว้า อันจะให้ขายดุจก่อนนั้นก็ห้ามมิให้ขาย อนึ่งเมื่อทำนาไซร้ ย่อมข้าวพืชข้าวในนานั้นปลูกเอง มิได้เอาข้าวในยุ้งไปหว่านไปดำดังทั้งหลาย อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้า และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา ให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า อันทำทั้งนี้ ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ฯ”
.
โดยสมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นั้น สันนิษฐานว่าหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้เสวยราชสมบัติเมืองอยุธยาสมัยนั้นพระองค์หนึ่ง (ครองราชย์ พ.ศ. 2034 - 2072) และพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนหน้านี้ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (ครองราชย์ พ.ศ. 2031 - 2034) เนื่องจากพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้ที่ได้รับการสถาปนาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก และขึ้นครองราชสมบัติพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หน่อพุทธางกูร ในเวลาต่อมา (ครองราชย์ พ.ศ. 2072 - 2076) หากพิจารณาตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่า พระอาทิตยวงศ์เสด็จฯไปครองเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. 2069 อันเป็นเหตุการณ์ภายหลังปี พ.ศ. 2053 ที่ปรากฏบนฐานเทวรูปพระอิศวร
.
เมื่อ พ.ศ. 2426 เทวรูปพระอิศวรถูกลักลอบตัดพระเศียรและพระกรทั้งสองข้างโดยชาวเยอรมันชื่อนายรัสมันต์ (J.E. Rastmann) เพื่อนำออกนอกประเทศ แต่กงสุลเยอรมันไม่เห็นชอบด้วยจึงอายัดไว้ พร้อมทั้งแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีรับสั่งให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ นำพระเศียรและพระกรเชื่อมติดกับองค์เทวรูปดังเดิม เมื่อมีการจัดตั้งมิวเซียมหลวงในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ได้อัญเชิญเทวรูปพระอิศวรมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ต่อมามีการย้ายองค์เทวรูปไปจัดแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และในปี พ.ศ. 2514 จึงอัญเชิญมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
..
นอกจากนี้ยังพบเทวรูปบุคคลสำริดสันนิษฐานว่าเป็นพระนารายณ์ คงเหลือส่วนท่อนองค์ ขนาดสูง 65 เซนติเมตร ลักษณะเครื่องทรงมีกรองศอประดับด้วยลวดลายเครือเถา ดอกไม้ก้านขด บริเวณพระอุระประดับทับทรวงตกแต่งด้วยลายดอกกลมในกรอบลายประจำยามล้อมรอบด้วยแนวไข่ปลา ต้นพระกรทั้งสี่สวมพาหุรัดที่ประดับลายดอกกลมสลับลายดอกไม้สี่กลีบ พระภูษาทรงหรือผ้านุ่งส่วนชายพกทำเป็นจีบพลิ้วไหว ลักษณะลวดลายที่ปรากฏบนเครื่องทรงสามารถเทียบเคียงได้กับลวดลายบนเครื่องทรงเทวรูปพระอิศวร
.
เทวสตรีสำริด ลักษณะพระเศียรและพระกรทั้งสองข้างหักหายไป ส่วนองค์ท่อนบนเปลือย สวมกรองศอที่มีพวงอุบะขนาดเล็กห้อยอยู่โดยรอบ ต้นพระกรทั้งสองข้างสวมพาหุรัดที่ตกแต่งด้วยลายรักร้อย ทรงนุ่งผ้ายาวกรอมพระบาท ชายผ้าที่ห้อยตกลงมาทางด้านหน้าถูกตกแต่งด้วยลายดอกไม้ ขอบผ้านุ่งบริเวณพระโสณีเว้าลงมาค่อนข้างต่ำ คาดทับด้วยเข็มขัดมีอุบะขนาดเล็กห้อยประดับ และชักชายพกออกมาคลุมพระโสณีทั้งสองข้าง พระบาทหักหายไป ลวดลายบนเครื่องทรงเทวสตรี เช่น ลายประจำยาม ลายดอกไม้กลม ลายรักร้อย นั้นเป็นลวดลายลักษณะที่ประดับบนประติมากรรมรูปช้างที่เจดีย์ประธานวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร ซึ่งประติมากรรมรูปช้างดังกล่าวมีการประดับสร้อยคอลักษณะคล้ายกับลายที่ปรากฏบนชายผ้านุ่งของเทวรูปพระอิศวร
..
การสถาปนาเทวรูปพระอิศวรและเทพในศาสนาฮินดูไว้กลางเมืองนั้น แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เจ้าเมืองและชาวเมืองกำแพงเพชรจะนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ก็มีการอุปถัมภ์ศาสนาฮินดู ด้วยเหตุว่าพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีต่างๆให้กับราชสำนัก และเป็นผู้รักษาคัมภีร์ธรรมศาสตร์ที่ใช้ในการปกครองบ้านเมือง
...
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (2550). ศัพทานุกรมโบราณคดี. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
กรรมการหอสมุดวชิรญาณ. (2450). พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. โรงพิมพ์ไทย.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2547). เสด็จประพาสต้น ร.ศ. 125. สำนักราชเลขาธิการ.
ผาสุข อินทราวุธ. (2524). รูปเคารพในศาสนาฮินดู (พิมพ์ครั้งที่ 2). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. (2557). นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.
สามเพชร. (2547). รายงานการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ศาลพระอิศวร. [เอกสารอัดสำเนา].
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2548). ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.
อนันต์ ชูโชติ, ธาดา สังข์ทอง และนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. (2561). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (พิมพ์ครั้งที่ 4). สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย.
อมรา ศรีสุชาติ. (2557). ของชิ้นเอกในกรมศิลปากร : นัยสำคัญจากเทวรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร. ศิลปากร 57(5), 96-107.
ร่องรอยศาสนาฮินดู ในเมืองกำแพงเพชร
..
ฮินดูเป็นศาสนาหนึ่งที่เกิดขึ้นในอินเดีย มีวิวัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์ เคารพบูชาตรีมูรติเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ พระอิศวรหรือพระศิวะ พระนารายณ์หรือพระวิษณุ และพระพรหม
.
เมืองกำแพงเพชรปรากฏศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก แต่จากบันทึกการสำรวจพบพระอิศวรที่ศาลพระอิศวรกลางเมืองกำแพงเพชรโดยนายแม็คคาธี นายสำรวจทำแผนที่ฯ เมื่อ พ.ศ. 2424 อีกทั้งภาพถ่ายครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449 ปรากฏภาพเทวรูปพระอิศวร เทวรูปบุคคลและเทวสตรีที่ศาลพระอิศวร เทวลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวของเมืองกำแพงเพชร
.
ศาลพระอิศวร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร กำหนดอายุได้พุทธศตวรรษที่ 21 จากจารึกรอบฐานเทวรูปพระอิศวรระบุปี พ.ศ. 2053 เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ฐานเขียงชั้นล่างสุดมีขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 29 เมตร สูง 1.6 เมตร ด้านตะวันออกมีบันไดศิลาแลงขนาดกว้าง 1.8 เมตร ยาว 4 เมตร บนฐานมีทางเดินศิลาแลงขนาดกว้าง 1 เมตร เป็นแนวยาวไปจนถึงบันไดสู่ฐานชั้นที่สอง
.
ฐานชั้นที่สอง มีขนาดกว้าง 3.3 เมตร ยาว 4.5 เมตร สูง 0.9 เมตร เป็นฐานประดิษฐานพระอิศวรจำลองลักษณะประทับยืนอยู่บนแท่นศิลาแลงขนาดกว้างด้านละ 1.2 เมตร สันนิษฐานว่าเครื่องบนหลังคาทำด้วยไม้และชำรุดหักหายไป
.
เทวรูปพระอิศวรสำริด ขนาดสูง 210 เซนติเมตร ลักษณะประทับยืนมี 1 เศียร 2 กร พระพักตร์รูปเหลี่ยม พระขนงเชื่อมต่อกันเหนือสันพระนาสิก พระโอษฐ์เม้มเป็นเส้นตรง ทรงไว้พระทาฐิกะ (เครา) เป็นรูปสามเหลี่ยม กลางพระนลาฏมีพระเนตรที่สาม สวมกระบังหน้า เกล้าพระเกศารูปทรงกระบอกปรากฏอุณาโลม ประดับกุณฑลที่พระกรรณ ด้านข้างพระเศียรมีกรรเจียก สวมกรองศอที่ประดับลายประจำยามและมีพวงอุบะขนาดเล็กห้อยตกลงมา ส่วนองค์ท่อนบนคล้องสายยัชโญปวีตและสวมพาหุรัดในรูปของนาค สวมทองพระกร ทองพระบาท พระธำมรงค์ทุกนิ้ว ทรงภูษาโจงกระเบนสั้นจีบเป็นริ้ว คาดทับด้วยเข็มขัดที่ประดับด้วยพวงอุบะขนาดเล็ก และชักขอบผ้านุ่งด้านบนให้แผ่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยมมีชายผ้าห้อยตกลงมาทางด้านหน้า รอบฐานเทวรูปปรากฏจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ระบุปีพุทธศักราช 2053 มีข้อความว่า
..
“ศักราช 1432 (ปี) มะเมียนักษัตร อาทิตย พารเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ได้หัสตฤกษ์ เพลารุ่งแล้ว 2 นาฬิกา จึงเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชรแลช่วยเลิกศาสนา พุทธศาสตร์แลไสยศาสตร์แลพระเทพกรรมมิให้หม่นให้หมองให้ เป็นอันหนึ่งอันเดียว แลซ่อมแปลงพระมหาธาตุแลวัดบริพารในเมืองนอกเมือง และที่แดนเหย้าเรือนถนนทลาอัน เป็นตรธานไปเถิงบางพานขุดแม่ไตรบางพร้อ อนึ่งแต่ก่อนย่อมขายวัวไปแก่ละว้า อันจะให้ขายดุจก่อนนั้นก็ห้ามมิให้ขาย อนึ่งเมื่อทำนาไซร้ ย่อมข้าวพืชข้าวในนานั้นปลูกเอง มิได้เอาข้าวในยุ้งไปหว่านไปดำดังทั้งหลาย อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้า และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา ให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า อันทำทั้งนี้ ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ฯ”
.
โดยสมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นั้น สันนิษฐานว่าหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้เสวยราชสมบัติเมืองอยุธยาสมัยนั้นพระองค์หนึ่ง (ครองราชย์ พ.ศ. 2034 - 2072) และพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนหน้านี้ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (ครองราชย์ พ.ศ. 2031 - 2034) เนื่องจากพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้ที่ได้รับการสถาปนาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก และขึ้นครองราชสมบัติพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หน่อพุทธางกูร ในเวลาต่อมา (ครองราชย์ พ.ศ. 2072 - 2076) หากพิจารณาตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่า พระอาทิตยวงศ์เสด็จฯไปครองเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. 2069 อันเป็นเหตุการณ์ภายหลังปี พ.ศ. 2053 ที่ปรากฏบนฐานเทวรูปพระอิศวร
.
เมื่อ พ.ศ. 2426 เทวรูปพระอิศวรถูกลักลอบตัดพระเศียรและพระกรทั้งสองข้างโดยชาวเยอรมันชื่อนายรัสมันต์ (J.E. Rastmann) เพื่อนำออกนอกประเทศ แต่กงสุลเยอรมันไม่เห็นชอบด้วยจึงอายัดไว้ พร้อมทั้งแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีรับสั่งให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ นำพระเศียรและพระกรเชื่อมติดกับองค์เทวรูปดังเดิม เมื่อมีการจัดตั้งมิวเซียมหลวงในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ได้อัญเชิญเทวรูปพระอิศวรมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ต่อมามีการย้ายองค์เทวรูปไปจัดแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) และในปี พ.ศ. 2514 จึงอัญเชิญมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
..
นอกจากนี้ยังพบเทวรูปบุคคลสำริดสันนิษฐานว่าเป็นพระนารายณ์ คงเหลือส่วนท่อนองค์ ขนาดสูง 65 เซนติเมตร ลักษณะเครื่องทรงมีกรองศอประดับด้วยลวดลายเครือเถา ดอกไม้ก้านขด บริเวณพระอุระประดับทับทรวงตกแต่งด้วยลายดอกกลมในกรอบลายประจำยามล้อมรอบด้วยแนวไข่ปลา ต้นพระกรทั้งสี่สวมพาหุรัดที่ประดับลายดอกกลมสลับลายดอกไม้สี่กลีบ พระภูษาทรงหรือผ้านุ่งส่วนชายพกทำเป็นจีบพลิ้วไหว ลักษณะลวดลายที่ปรากฏบนเครื่องทรงสามารถเทียบเคียงได้กับลวดลายบนเครื่องทรงเทวรูปพระอิศวร
.
เทวสตรีสำริด ลักษณะพระเศียรและพระกรทั้งสองข้างหักหายไป ส่วนองค์ท่อนบนเปลือย สวมกรองศอที่มีพวงอุบะขนาดเล็กห้อยอยู่โดยรอบ ต้นพระกรทั้งสองข้างสวมพาหุรัดที่ตกแต่งด้วยลายรักร้อย ทรงนุ่งผ้ายาวกรอมพระบาท ชายผ้าที่ห้อยตกลงมาทางด้านหน้าถูกตกแต่งด้วยลายดอกไม้ ขอบผ้านุ่งบริเวณพระโสณีเว้าลงมาค่อนข้างต่ำ คาดทับด้วยเข็มขัดมีอุบะขนาดเล็กห้อยประดับ และชักชายพกออกมาคลุมพระโสณีทั้งสองข้าง พระบาทหักหายไป ลวดลายบนเครื่องทรงเทวสตรี เช่น ลายประจำยาม ลายดอกไม้กลม ลายรักร้อย นั้นเป็นลวดลายลักษณะที่ประดับบนประติมากรรมรูปช้างที่เจดีย์ประธานวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร ซึ่งประติมากรรมรูปช้างดังกล่าวมีการประดับสร้อยคอลักษณะคล้ายกับลายที่ปรากฏบนชายผ้านุ่งของเทวรูปพระอิศวร
..
การสถาปนาเทวรูปพระอิศวรและเทพในศาสนาฮินดูไว้กลางเมืองนั้น แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เจ้าเมืองและชาวเมืองกำแพงเพชรจะนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่ก็มีการอุปถัมภ์ศาสนาฮินดู ด้วยเหตุว่าพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีต่างๆให้กับราชสำนัก และเป็นผู้รักษาคัมภีร์ธรรมศาสตร์ที่ใช้ในการปกครองบ้านเมือง
...
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (2550). ศัพทานุกรมโบราณคดี. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
กรรมการหอสมุดวชิรญาณ. (2450). พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. โรงพิมพ์ไทย.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2547). เสด็จประพาสต้น ร.ศ. 125. สำนักราชเลขาธิการ.
ผาสุข อินทราวุธ. (2524). รูปเคารพในศาสนาฮินดู (พิมพ์ครั้งที่ 2). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. (2557). นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. (2554). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.
สามเพชร. (2547). รายงานการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ศาลพระอิศวร. [เอกสารอัดสำเนา].
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2548). ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.
อนันต์ ชูโชติ, ธาดา สังข์ทอง และนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. (2561). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (พิมพ์ครั้งที่ 4). สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย.
อมรา ศรีสุชาติ. (2557). ของชิ้นเอกในกรมศิลปากร : นัยสำคัญจากเทวรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร. ศิลปากร 57(5), 96-107.
(จำนวนผู้เข้าชม 297 ครั้ง)