เทคนิคการประดับตกแต่งอาคารด้วยหินชนวนในเมืองกำแพงเพชร
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เทคนิคการประดับตกแต่งอาคารด้วยหินชนวนในเมืองกำแพงเพชร
..
โบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีการแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็นเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วิหาร เจดีย์ กุฏิ ศาลา วัจจกุฎีหรือห้องส้วม บ่อน้ำ และแหล่งตัดศิลาแลง
.
ลักษณะพิเศษของวัดกรุสี่ห้องที่ปรากฏเพียงแห่งเดียวของเมืองกำแพงเพชรคือ การใช้หินชนวนปูพื้นวิหารและอาสน์สงฆ์ในลักษณะวางเรียงต่อกันจนเต็มพื้นที่ โดยแผ่นหินชนวนชิ้นสมบูรณ์ที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีปีงบประมาณ 2542 มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหนาประมาณ 4 เซนติเมตร ขนาดกว้าง 45 เซนติเมตร ยาว 60-78 เซนติเมตร และลักษณะแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ 45 เซนติเมตร ด้านหน้าของแผ่นหินชนวนมีลักษณะขัดเรียบ ด้านหลังของหินชนวนแต่ละแผ่นปรากฏรอยสกัดเป็นร่องกว้างขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นจำนวนมาก จากร่องรอยที่พบคาดว่าเกิดจากการใช้เครื่องมือโลหะประเภทสิ่ว ใช้สำหรับเพิ่มการยึดเกาะปูนที่เป็นตัวประสาน
..
หินชนวน (Slate) หินแปรประเภทหนึ่ง เกิดจากการแปรสภาพของหินดินดานในความร้อนและความกดดันภายในโลก และอาจแปรมาจากหินอัคนี มีลักษณะเนื้อละเอียด มักแยกออกเป็นแผ่น ๆ โดยมีผิวรอยแยกเรียบ ส่วนใหญ่ประกอบด้วย แร่ควอร์ต แร่ไมกา และแร่คลอไรต์ พบหินชนวนในประเทศไทย เช่น จังหวัดสุโขทัย กาญจนบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ระยอง นครศรีธรรมราช และนราธิวาส คนในสมัยโบราณใช้หินชนวนทำศิลาจารึก กระดานชนวน และปูพื้น
.
โบราณสถานวัฒนธรรมสุโขทัยปรากฏร่องรอยการนำหินชนวนมาใช้ประกอบสถาปัตยกรรมอย่างหลากหลาย โดยในเมืองสุโขทัยพบการปูพื้นด้วยหินชนวนทั้งในลักษณะปูพื้นวิหาร เช่น วัดศรีสวาย (พุทธศตวรรษที่ 18) วัดเจดีย์งาม (พุทธศตวรรษที่ 19-20) วัดเขาพระบาทน้อย (พุทธศตวรรษที่ 19-22) ปูพื้นอุโบสถ เช่น วัดโบสถ์ (พุทธศตวรรษที่ 19-20) วัดมังกร (พุทธศตวรรษที่ 20-21) วัดพระยืน (พุทธศตวรรษที่ 20-21) นอกจากนี้ที่วัดเชตุพน (พุทธศตวรรษที่ 19-22) ยังพบการนำหินชนวนมาใช้ปูพื้นและเป็นวัสดุก่อสร้างกำแพงล้อมรอบมณฑปประธาน สร้างช่องประตูทางเข้าด้วยหินชนวนแท่งใหญ่ รวมถึงนำมาปูพื้นโดยรอบวิหาร และเขาพระบาทใหญ่ (พุทธศตวรรษที่ 20-22) พบการปูพื้นด้วยหินชนวนบนวิหารและพื้นที่โดยรอบ
.
โบราณสถานวัดกรุสี่ห้องสามารถกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Dating) ได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 จากการพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ กระปุกทรงคอขวดมีหูเคลือบสีน้ำตาล แหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย อายุพุทธศตวรรษที่ 20–21 ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง อายุพุทธศตวรรษที่ 20-22 เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัย เช่น ชิ้นส่วนมกรและปั้นลมลายเทพนม อายุพุทธศตวรรษที่ 20-21 พระพุทธรูปสำริดอิริยาบถเดิน ศิลปะสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษที่ 20 อันเป็นพุทธศิลป์ที่นิยมในวัฒนธรรมสุโขทัย เช่น ภาพปูนปั้นที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง เมืองสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 20) รวมถึงภาพจารด้านหนึ่งบนศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ (พ.ศ. 1960)
.
จากการกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าว สันนิษฐานว่าวัดกรุสี่ห้องสร้างในวัฒนธรรมสุโขทัย จึงมีความเป็นไปได้ว่าการประดับตกแต่งด้วยการปูพื้นวิหารด้วยแผ่นหินชนวนของวัดกรุสี่ห้องอาจเป็นลักษณะการรับอิทธิพลประการหนึ่งจากศูนย์กลางการปกครองในขณะนั้น
..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (2557). นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรมศิลปากร.
กฤษฎา พิณศรี, ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และอุษา ง้วนเพียรภาค. (2535). เครื่องถ้วยสุโขทัย พัฒนาการของเครื่องถ้วยไทย. โอสถสภา. อ้างถึงใน อนันต์ ชูโชติ, ธาดา สังข์ทอง และนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. (2561). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (พิมพ์ครั้งที่ 4). สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย.
กฤษฎา พิณศรี, ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และอุษา ง้วนเพียรภาค. (2535). เครื่องถ้วยสุโขทัย พัฒนาการของเครื่องถ้วยไทย. โอสถสภา.
จิราภรณ์ อรัณยนาค. (2549). เทคนิคการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุประเภทประติมากรรมหิน. ใน สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ความรู้ด้านการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทประติมากรรมหิน (หน้า 1-10). กรมศิลปากร.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, สว่าง เลิศฤทธิ์, และกฤษฎา พิณศรี. (2539). ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). โอสถสภา.
สุรศักดิ์ก่อสร้าง. (2542). การขุดแต่งวัดกรุสี่ห้องในเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร. โครงการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แหล่งโบราณสถานจังหวัดกำแพงเพชรแผนงานเงินกู้เพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมการสร้างงานภายใต้โครงการ SIP พ.ศ. 2542.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2548). ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.
อนันต์ ชูโชติ, ธาดา สังข์ทอง และนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. (2561). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (พิมพ์ครั้งที่ 4). สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย.
อรกุล โภคากรวิจารณ์, จุมพล คืนตัก, อารยะ นาคะนาท, ธีรวัชร อินทรสูต, งามพิศ แย้มนิยม, เดชนา ชุตินารา และผาณิต กุลชล. (2526). ทรัพย์ในดิน กำแพงเพชร (เอกสารทรัพยากรธรณี เล่มที่ 2). กรมทรัพยากรธรณี.
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2561). การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย ปีงบประมาณ 2561. โครงการการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย.
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2561). ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (พิมพ์ครั้งที่ 2). อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร.
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2563). รายงานการดำเนินงานทางโบราณคดี โครงการขุดแต่งทางโบราณคดี เพื่อออกแบบบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์กลุ่มโบราณสถานเขาพระบาทใหญ่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ปีงบประมาณ พุทธศักราช 2563. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร.
เทคนิคการประดับตกแต่งอาคารด้วยหินชนวนในเมืองกำแพงเพชร
..
โบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มีการแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็นเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วิหาร เจดีย์ กุฏิ ศาลา วัจจกุฎีหรือห้องส้วม บ่อน้ำ และแหล่งตัดศิลาแลง
.
ลักษณะพิเศษของวัดกรุสี่ห้องที่ปรากฏเพียงแห่งเดียวของเมืองกำแพงเพชรคือ การใช้หินชนวนปูพื้นวิหารและอาสน์สงฆ์ในลักษณะวางเรียงต่อกันจนเต็มพื้นที่ โดยแผ่นหินชนวนชิ้นสมบูรณ์ที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีปีงบประมาณ 2542 มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหนาประมาณ 4 เซนติเมตร ขนาดกว้าง 45 เซนติเมตร ยาว 60-78 เซนติเมตร และลักษณะแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ 45 เซนติเมตร ด้านหน้าของแผ่นหินชนวนมีลักษณะขัดเรียบ ด้านหลังของหินชนวนแต่ละแผ่นปรากฏรอยสกัดเป็นร่องกว้างขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นจำนวนมาก จากร่องรอยที่พบคาดว่าเกิดจากการใช้เครื่องมือโลหะประเภทสิ่ว ใช้สำหรับเพิ่มการยึดเกาะปูนที่เป็นตัวประสาน
..
หินชนวน (Slate) หินแปรประเภทหนึ่ง เกิดจากการแปรสภาพของหินดินดานในความร้อนและความกดดันภายในโลก และอาจแปรมาจากหินอัคนี มีลักษณะเนื้อละเอียด มักแยกออกเป็นแผ่น ๆ โดยมีผิวรอยแยกเรียบ ส่วนใหญ่ประกอบด้วย แร่ควอร์ต แร่ไมกา และแร่คลอไรต์ พบหินชนวนในประเทศไทย เช่น จังหวัดสุโขทัย กาญจนบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ระยอง นครศรีธรรมราช และนราธิวาส คนในสมัยโบราณใช้หินชนวนทำศิลาจารึก กระดานชนวน และปูพื้น
.
โบราณสถานวัฒนธรรมสุโขทัยปรากฏร่องรอยการนำหินชนวนมาใช้ประกอบสถาปัตยกรรมอย่างหลากหลาย โดยในเมืองสุโขทัยพบการปูพื้นด้วยหินชนวนทั้งในลักษณะปูพื้นวิหาร เช่น วัดศรีสวาย (พุทธศตวรรษที่ 18) วัดเจดีย์งาม (พุทธศตวรรษที่ 19-20) วัดเขาพระบาทน้อย (พุทธศตวรรษที่ 19-22) ปูพื้นอุโบสถ เช่น วัดโบสถ์ (พุทธศตวรรษที่ 19-20) วัดมังกร (พุทธศตวรรษที่ 20-21) วัดพระยืน (พุทธศตวรรษที่ 20-21) นอกจากนี้ที่วัดเชตุพน (พุทธศตวรรษที่ 19-22) ยังพบการนำหินชนวนมาใช้ปูพื้นและเป็นวัสดุก่อสร้างกำแพงล้อมรอบมณฑปประธาน สร้างช่องประตูทางเข้าด้วยหินชนวนแท่งใหญ่ รวมถึงนำมาปูพื้นโดยรอบวิหาร และเขาพระบาทใหญ่ (พุทธศตวรรษที่ 20-22) พบการปูพื้นด้วยหินชนวนบนวิหารและพื้นที่โดยรอบ
.
โบราณสถานวัดกรุสี่ห้องสามารถกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Dating) ได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 จากการพบโบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ กระปุกทรงคอขวดมีหูเคลือบสีน้ำตาล แหล่งเตาเมืองศรีสัชนาลัย อายุพุทธศตวรรษที่ 20–21 ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง อายุพุทธศตวรรษที่ 20-22 เครื่องประกอบสถาปัตยกรรมจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัย เช่น ชิ้นส่วนมกรและปั้นลมลายเทพนม อายุพุทธศตวรรษที่ 20-21 พระพุทธรูปสำริดอิริยาบถเดิน ศิลปะสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษที่ 20 อันเป็นพุทธศิลป์ที่นิยมในวัฒนธรรมสุโขทัย เช่น ภาพปูนปั้นที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง เมืองสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 20) รวมถึงภาพจารด้านหนึ่งบนศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ (พ.ศ. 1960)
.
จากการกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าว สันนิษฐานว่าวัดกรุสี่ห้องสร้างในวัฒนธรรมสุโขทัย จึงมีความเป็นไปได้ว่าการประดับตกแต่งด้วยการปูพื้นวิหารด้วยแผ่นหินชนวนของวัดกรุสี่ห้องอาจเป็นลักษณะการรับอิทธิพลประการหนึ่งจากศูนย์กลางการปกครองในขณะนั้น
..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (2557). นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรมศิลปากร.
กฤษฎา พิณศรี, ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และอุษา ง้วนเพียรภาค. (2535). เครื่องถ้วยสุโขทัย พัฒนาการของเครื่องถ้วยไทย. โอสถสภา. อ้างถึงใน อนันต์ ชูโชติ, ธาดา สังข์ทอง และนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. (2561). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (พิมพ์ครั้งที่ 4). สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย.
กฤษฎา พิณศรี, ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และอุษา ง้วนเพียรภาค. (2535). เครื่องถ้วยสุโขทัย พัฒนาการของเครื่องถ้วยไทย. โอสถสภา.
จิราภรณ์ อรัณยนาค. (2549). เทคนิคการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุและศิลปวัตถุประเภทประติมากรรมหิน. ใน สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ความรู้ด้านการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ประเภทประติมากรรมหิน (หน้า 1-10). กรมศิลปากร.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร, สว่าง เลิศฤทธิ์, และกฤษฎา พิณศรี. (2539). ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). โอสถสภา.
สุรศักดิ์ก่อสร้าง. (2542). การขุดแต่งวัดกรุสี่ห้องในเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร. โครงการบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์แหล่งโบราณสถานจังหวัดกำแพงเพชรแผนงานเงินกู้เพื่อการท่องเที่ยวและส่งเสริมการสร้างงานภายใต้โครงการ SIP พ.ศ. 2542.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (2548). ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.
อนันต์ ชูโชติ, ธาดา สังข์ทอง และนารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. (2561). นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (พิมพ์ครั้งที่ 4). สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย.
อรกุล โภคากรวิจารณ์, จุมพล คืนตัก, อารยะ นาคะนาท, ธีรวัชร อินทรสูต, งามพิศ แย้มนิยม, เดชนา ชุตินารา และผาณิต กุลชล. (2526). ทรัพย์ในดิน กำแพงเพชร (เอกสารทรัพยากรธรณี เล่มที่ 2). กรมทรัพยากรธรณี.
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2561). การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย ปีงบประมาณ 2561. โครงการการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย.
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2561). ทำเนียบโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (พิมพ์ครั้งที่ 2). อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร.
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. (2563). รายงานการดำเนินงานทางโบราณคดี โครงการขุดแต่งทางโบราณคดี เพื่อออกแบบบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์กลุ่มโบราณสถานเขาพระบาทใหญ่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ปีงบประมาณ พุทธศักราช 2563. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรมศิลปากร.
(จำนวนผู้เข้าชม 288 ครั้ง)