...

หงส์
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
“หงส์” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ กับเมืองกำแพงเพชร
...
หงส์ เป็นสัตว์ที่ถูกนำมาใช้เชื่อมโยงกับคติความเชื่อผ่านทางศิลปกรรมในอดีต โบราณสถานของเมืองกำแพงเพชร พบร่องรอยของประติมากรรมดินเผารูปหงส์ประดับส่วนฐานเหนือฐานประทักษิณเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาทางเหนือนอกเมืองกำแพงเพชร
.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า “หงส์” หมายถึง นกในนิยาย ถือเป็นนกในตระกูลสูง มีเสียงไพเราะ เป็นพาหนะของพระพรหม ในทางวรรณคดี หมายถึง บุคคลที่มีชาติตระกูลสูง และเปรียบการเดินที่งดงามอ่อนช้อยและเป็นสง่าด้วยการเดินของหงส์
..
คติความเชื่อทางพุทธศาสนา หงส์เป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์ ปรากฏในชาดกหลายเรื่อง เช่น
ปลาสชาดก โมรัจชาดก สุวรรณหงส์ชาดก ชวนหังสชาดก จุลหังสชาดก เนรุชาดก เป็นต้น
.
ในไตรภูมิพระร่วง บทพระราชนิพนธ์ของพญาลิไทย พระมหากษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงสุโขทัย ปรากฏข้อความเกี่ยวกับหงส์ใน ทุติยกัณฑ์ ติรัจฉานภูมิ ความว่า “...แต่ติรัจฉานคือราชหงส์อันอยู่ในเขาคิชฌกูฏและอยู่ในคูหาถ้ำก็ดี อันอยู่ในปราสาททั้งหลายด้วยฝูงนกก็ดี อยู่ด้วยหมู่สัตว์ในป่าพระหิมพานต์นั้นก็ดี ก็มีอยู่เป็นอันมากนักหนาแล...”
..
นอกจากนี้ยังถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นเทพพาหนะของพระพรหม เทพเจ้าในศาสนาฮินดู ตัวอย่างเช่น แท่งหินทรายทรงสี่เหลี่ยมสลักภาพพระพรหมทรงหงส์ พบที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และปรากฏหลักฐานยืนยันความเชื่อเรื่องพาหนะของเทพในศาสนาพราหมณ์ รวมถึงการเป็นสัตว์ชั้นสูงอยู่คู่กับกษัตริย์สมัยอยุธยา คือการสร้างเรือพระที่นั่งเป็นรูปหงส์ เรียกว่า เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หรือสุวรรณหงส์ ดังที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงพรรณนาถึงโดยเปรียบเทียบกับพาหนะของพระพรหม จากพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือบางตอนไว้ว่า
.
“สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งอนชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม”
.
และยังคงสืบความนิยมต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ อาทิ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพระยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ปีพ.ศ. 2562 โดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพ.ศ. 2454 มีลักษณะส่วนหัวเรือโขนเป็นรูปหัวของหงส์ จำหลักไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่ห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือทาสีแดง ตอนกลางลำเรือมีที่ประทับเรียกว่า ราชบัลลังก์กัญญา สำหรับพระเจ้าอยู่หัวหรือราชวงศ์ชั้นสูง และตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา อันมีชื่อว่า เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ ดังข้อความปรากฏในพระราชพงศวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ความว่า
.
“...ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพ จึงให้หลวงราชนิกุล พระรักษ์มณเทียร และเจ้าพนักงานทั้งปวง เอาเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ไปยังวัดราชประดิษฐานอัญเชิญพระเทียรราชาให้ปริวัตรลาผนวชแล้วเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์อลงการ ประดับด้วยเครื่องสูงมยุรฉัตรพัดโบกจามมรมาศดาษดาด้วยเรือดั้งกัน แห่เป็นขนัดแน่นด้วยชลมารควิถี เสด็จถึงประทับฉนวนน้ำแล้ว เชิญเสด็จเข้าสู่พระราชวัง...”
.
ที่เจดีย์ประธานวัดช้างรอบ บริเวณทิศเหนือนอกเมืองกำแพงเพชร พบประติมากรรมดินเผารูปหงส์ประดับที่เจดีย์ประธานของวัด บริเวณฐานกลมรองรับส่วนบัวถลาและองค์ระฆังด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฐานที่อยู่ชั้นล่างของชั้นฐานประดับปูนปั้นทำภาพเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ประติมากรรมรูปหงส์มีลักษณะทำท่าก้าวเดินเรียงต่อกันในทางทวนเข็มนาฬิกา ส่วนหางเป็นพุ่มลายกนก มีการทำเดือยสำหรับยึดติดตัวประติมากรรมเข้ากับฐานเจดีย์ และสันนิษฐานว่ามีการฉาบปูนทับประติมากรรมดังกล่าว
..
ประติมากรรมดินเผารูปหงส์ที่วัดช้างรอบ สามารถกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ด้วยการเปรียบเทียบรูปแบบศิลปกรรมกับประติมากรรมปูนปั้นรูปหงส์ที่วัดพระพายหลวง เมืองสุโขทัย และชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นลายกนกที่วัดนางพญา เมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย รวมถึงประติมากรรมปูนปั้นรูปหงส์ประดับในชั้นเชิงบาตรของปรางค์ประธาน วัดจุฬามณี อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
...
เอกสารอ้างอิง
.
กรมศิลปากร. เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ พร้อมด้วยพระประวัติ และพระนิพนธ์บทร้อยกรอง ฉบับตรวจสอบชำระ
ใหม่ มีภาพและแผนที่ประกอบเรื่อง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2505.
กรมศิลปากร. ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย
ฉบับตรวจสอบชำระใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526.
กรมศิลปากร. เรือพระราชพิธี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2558.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญาม, 2559.
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมาพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.
สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร. ปราสาทพนมรุ้ง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2543.
อนันต์ ชูโชติ. เจดีย์วัดช้างรอบ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2523.















(จำนวนผู้เข้าชม 6029 ครั้ง)


Messenger