การกำหนดอายุเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ
การกำหนดอายุเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ โดยวิธีศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรมกับลวดลายเครื่องประดับเทวรูปพระอิศวร เมืองกำแพงเพชร
..
เทวรูปพระอิศวรสำริด แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่ศาลพระอิศวรอันเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ลักษณะประทับยืนมี 1 เศียร 2 กร พระพักตร์รูปเหลี่ยม พระขนงเชื่อมต่อกันเหนือสันพระนาสิก พระโอษฐ์เม้มเป็นเส้นตรง ทรงไว้พระทาฐิกะ (เครา) เป็นรูปสามเหลี่ยม กลางพระนลาฏมีพระเนตรที่สาม สวมกระบังหน้า เกล้าพระเกศารูปทรงกระบอกปรากฏอุณาโลม ประดับกุณฑลที่พระกรรณ ด้านข้างพระเศียรมีกรรเจียก สวมกรองศอที่ประดับลายประจำยามและมีพวงอุบะขนาดเล็กห้อยตกลงมา ส่วนองค์ท่อนบนคล้องสายยัชโญปวีตและสวมพาหุรัดในรูปของนาค สวมทองพระกร ทองพระบาท พระธำมรงค์ทุกนิ้ว ทรงภูษาโจงกระเบนสั้นจีบเป็นริ้ว คาดทับด้วยเข็มขัดที่ประดับด้วยพวงอุบะขนาดเล็ก และชักขอบผ้านุ่งด้านบนให้แผ่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยมมีชายผ้าห้อยตกลงมาทางด้านหน้า
..
การกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบตามความหมายในคู่มือการปฏิบัติงานด้านโบราณคดี หมายถึงอายุที่ไม่สามารถระบุเวลาเป็นจำนวนปีที่เทียบเคียงและเชื่อมโยงเข้ากับเวลาของปฏิทินปัจจุบัน กล่าวคือไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขจำนวนปี หรือสมัยได้ ระบุได้เพียงว่าอายุเท่ากับ หรืออายุเก่ากว่า หรืออายุน้อยกว่าหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใด ชุดใด หน่วยใดเท่านั้น
.
ในที่นี้การพิจารณาวิวัฒนาการของรูปแบบในลักษณะศิลปกรรม โดยการคัดเลือกลวดลายตกแต่งของโบราณวัตถุ และโบราณสถาน อาศัยเหตุทั่วไปว่า ศิลปะทางศาสนา หรือที่ทำขึ้นตามระเบียบประเพณีนั้น ความคิดอ่านทางการช่างมีการสืบช่วงอายุต่อกัน เริ่มต้นจากอิทธิพลภายนอกแล้วกลายเป็นแบบของตนเองในภายหลัง หลักสำคัญอยู่ที่การคัดเลือกลวดลาย จำแนกลวดลายตามวัตถุนั้นๆ ออกเป็นกลุ่มๆ จากนั้นคัดเลือกวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งวัตถุชิ้นหลักนี้ต้องสามารถกำหนดอายุได้อย่างแน่นอน เช่น วัตถุที่มีจารึกบอกเวลาที่สร้าง หรือวัตถุที่สามารถเปรียบเทียบอายุจากวัตถุที่เป็นศิลปกรรมของพื้นที่อื่นที่ให้อิทธิพลแก่วัตถุชิ้นนั้น แล้วจึงคัดลวดลายจากโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ นำมาสืบช่วงก่อนหลังตามลักษณะลวดลายที่ปรากฏ
..
เทวรูปพระอิศวรสำริดนี้ปรากฏจารึกโดยรอบฐานอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ระบุปีพุทธศักราช 2053 มีข้อความโดยสรุปว่า เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชได้ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรนี้ไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองมนุษย์และสัตว์ที่อาศัยอยู่ภายในเมืองกำแพงเพชร กล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งในเมืองและนอกเมืองกำแพงเพชร อีกทั้งยังมีรับสั่งให้ขุดลอกคลองแม่ไตรบางพร้อและคลองส่งน้ำจากเมืองกำแพงเพชรไปถึงเมืองบางพาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ สันนิษฐานว่าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นั้นหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้เสวยราชสมบัติเมืองอยุธยาสมัยนั้นพระองค์หนึ่ง และพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนหน้านี้ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรืออาจหมายถึงพระอาทิตยวงศ์ผู้ที่ได้รับการสถาปนาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก และขึ้นครองราชสมบัติพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หน่อพุทธางกูร ในเวลาต่อมา
.
ตัวอย่างลวดลายเครื่องประดับที่ปรากฏบนกระบังหน้า กรองศอ และผ้านุ่งของเทวรูป อาทิ ลายประจำยาม ลายดอกไม้ก้านขด ลายกระหนก และลายดอกกลม อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายเครื่องประดับที่ปรากฏบนตัวช้างประติมากรรมที่ฐานเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ บริเวณสร้อยคอ ข้อมือ และข้อเท้า
.
จารึกโดยรอบฐานเทวรูปพระอิศวรระบุปีพุทธศักราช 2053 (พุทธศตวรรษที่ 21) ลวดลายเครื่องประดับที่ปรากฏมีความสอดคล้องกับลวดลายเครื่องประดับที่ปรากฏบนประติมากรรมรูปช้างที่ฐานเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ จึงอนุมานจากการกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบได้ว่าวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร สำนักโบราณคดี. คู่มือการปฏิบัติงานด้านโบราณคดี. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2551.
กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2557.
กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, 2548.
นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์, ธาดา สังข์ทอง และอนันต์ ชูโชติ ; ผู้แปลภาษาอังกฤษ, นันทนา ตันติเวสสะ และ สุรพล นาถะพินธุ.
นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks) (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2542.
..
เทวรูปพระอิศวรสำริด แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่ศาลพระอิศวรอันเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ลักษณะประทับยืนมี 1 เศียร 2 กร พระพักตร์รูปเหลี่ยม พระขนงเชื่อมต่อกันเหนือสันพระนาสิก พระโอษฐ์เม้มเป็นเส้นตรง ทรงไว้พระทาฐิกะ (เครา) เป็นรูปสามเหลี่ยม กลางพระนลาฏมีพระเนตรที่สาม สวมกระบังหน้า เกล้าพระเกศารูปทรงกระบอกปรากฏอุณาโลม ประดับกุณฑลที่พระกรรณ ด้านข้างพระเศียรมีกรรเจียก สวมกรองศอที่ประดับลายประจำยามและมีพวงอุบะขนาดเล็กห้อยตกลงมา ส่วนองค์ท่อนบนคล้องสายยัชโญปวีตและสวมพาหุรัดในรูปของนาค สวมทองพระกร ทองพระบาท พระธำมรงค์ทุกนิ้ว ทรงภูษาโจงกระเบนสั้นจีบเป็นริ้ว คาดทับด้วยเข็มขัดที่ประดับด้วยพวงอุบะขนาดเล็ก และชักขอบผ้านุ่งด้านบนให้แผ่ออกเป็นรูปสามเหลี่ยมมีชายผ้าห้อยตกลงมาทางด้านหน้า
..
การกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบตามความหมายในคู่มือการปฏิบัติงานด้านโบราณคดี หมายถึงอายุที่ไม่สามารถระบุเวลาเป็นจำนวนปีที่เทียบเคียงและเชื่อมโยงเข้ากับเวลาของปฏิทินปัจจุบัน กล่าวคือไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขจำนวนปี หรือสมัยได้ ระบุได้เพียงว่าอายุเท่ากับ หรืออายุเก่ากว่า หรืออายุน้อยกว่าหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใด ชุดใด หน่วยใดเท่านั้น
.
ในที่นี้การพิจารณาวิวัฒนาการของรูปแบบในลักษณะศิลปกรรม โดยการคัดเลือกลวดลายตกแต่งของโบราณวัตถุ และโบราณสถาน อาศัยเหตุทั่วไปว่า ศิลปะทางศาสนา หรือที่ทำขึ้นตามระเบียบประเพณีนั้น ความคิดอ่านทางการช่างมีการสืบช่วงอายุต่อกัน เริ่มต้นจากอิทธิพลภายนอกแล้วกลายเป็นแบบของตนเองในภายหลัง หลักสำคัญอยู่ที่การคัดเลือกลวดลาย จำแนกลวดลายตามวัตถุนั้นๆ ออกเป็นกลุ่มๆ จากนั้นคัดเลือกวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งวัตถุชิ้นหลักนี้ต้องสามารถกำหนดอายุได้อย่างแน่นอน เช่น วัตถุที่มีจารึกบอกเวลาที่สร้าง หรือวัตถุที่สามารถเปรียบเทียบอายุจากวัตถุที่เป็นศิลปกรรมของพื้นที่อื่นที่ให้อิทธิพลแก่วัตถุชิ้นนั้น แล้วจึงคัดลวดลายจากโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ นำมาสืบช่วงก่อนหลังตามลักษณะลวดลายที่ปรากฏ
..
เทวรูปพระอิศวรสำริดนี้ปรากฏจารึกโดยรอบฐานอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ระบุปีพุทธศักราช 2053 มีข้อความโดยสรุปว่า เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชได้ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรนี้ไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองมนุษย์และสัตว์ที่อาศัยอยู่ภายในเมืองกำแพงเพชร กล่าวถึงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งในเมืองและนอกเมืองกำแพงเพชร อีกทั้งยังมีรับสั่งให้ขุดลอกคลองแม่ไตรบางพร้อและคลองส่งน้ำจากเมืองกำแพงเพชรไปถึงเมืองบางพาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ สันนิษฐานว่าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นั้นหมายถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ผู้เสวยราชสมบัติเมืองอยุธยาสมัยนั้นพระองค์หนึ่ง และพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนหน้านี้ คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรืออาจหมายถึงพระอาทิตยวงศ์ผู้ที่ได้รับการสถาปนาเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก และขึ้นครองราชสมบัติพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หน่อพุทธางกูร ในเวลาต่อมา
.
ตัวอย่างลวดลายเครื่องประดับที่ปรากฏบนกระบังหน้า กรองศอ และผ้านุ่งของเทวรูป อาทิ ลายประจำยาม ลายดอกไม้ก้านขด ลายกระหนก และลายดอกกลม อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายเครื่องประดับที่ปรากฏบนตัวช้างประติมากรรมที่ฐานเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ บริเวณสร้อยคอ ข้อมือ และข้อเท้า
.
จารึกโดยรอบฐานเทวรูปพระอิศวรระบุปีพุทธศักราช 2053 (พุทธศตวรรษที่ 21) ลวดลายเครื่องประดับที่ปรากฏมีความสอดคล้องกับลวดลายเครื่องประดับที่ปรากฏบนประติมากรรมรูปช้างที่ฐานเจดีย์ประธานวัดช้างรอบ จึงอนุมานจากการกำหนดอายุโดยการเปรียบเทียบได้ว่าวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร สำนักโบราณคดี. คู่มือการปฏิบัติงานด้านโบราณคดี. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2551.
กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2557.
กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, 2548.
นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์, ธาดา สังข์ทอง และอนันต์ ชูโชติ ; ผู้แปลภาษาอังกฤษ, นันทนา ตันติเวสสะ และ สุรพล นาถะพินธุ.
นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks) (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2542.
(จำนวนผู้เข้าชม 434 ครั้ง)