การกำหนดอายุสมัยเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
การกำหนดอายุสมัยเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม วัดเจดีย์กลางทุ่ง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
.
วัดเจดีย์กลางทุ่ง ตั้งอยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร ตัววัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกไม่ปรากฏแนวกำแพงวัด แต่มีการขุดคูน้ำโดยรอบเพื่อแสดงขอบเขตวัดเรียกลักษณะนี้ว่า “อุทกสีมา” ซึ่งเป็นรูปแบบแผงผังวัดที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัย สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดประกอบด้วยวิหารก่อด้วยอิฐปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐานอาคาร ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ประธานทรงยอดดอกบัวตูม สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น จากนั้นเป็นฐานบัวที่ยืดท้องไม้สูงประดับลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกฟักเพิ่มมุมไม้ยี่สิบซ้อนกันสองชั้น (ชั้นแว่นฟ้า) ตามด้วยส่วนเรือนธาตุเพิ่มมุมไม้ยี่สิบรองรับส่วนยอดทรงดอกบัวตูม ส่วนปลีหักหาย
.
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม มีที่มาของชื่อตามลักษณะของส่วนยอดซึ่งคล้ายดอกบัวตูม และการพบเจดีย์ลักษณะเดียวกันบางองค์ ปรากฏการทำกลีบบัวประดับทรงดอกบัวตูม โดยชื่อของเจดีย์ทรงนี้เรียกกันหลายอย่างอาทิเช่น เจดีย์ทรงดอกบัวตูม ทรงทะนาน หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
.
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมนี้ถือเป็นรูปแบบเฉพาะของสถาปัตยกรรมสุโขทัย เนื่องจากพบเจดีย์ทรงนี้อย่างแพร่หลายตามหัวเมืองต่าง ๆ หรือที่เกี่ยวข้องกับเมืองสุโขทัย มีรายละเอียดส่วนประกอบโดยรวม ดังนี้
.
ส่วนฐาน ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานหรือฐานเขียงอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3-5 ฐาน รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ (บัวคว่ำ-บัวหงาย) ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1 ฐาน ซึ่งมีลักษณะเป็นฐานบัวที่ยืดท้องไม้สูงประดับลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น
.
ส่วนกลาง ประกอบด้วยชุดฐานบัวลูกฟักซ้อนกัน 2 ฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ นิยมเรียกชุดฐานบัวทั้งสองฐานนี้ว่า “ชั้นแว่นฟ้า” ถัดขึ้นไปเป็นส่วนของเรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบเช่นเดียวกับฐาน มี 2 รูปแบบ คือ เรือนธาตุไม่มีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งพบมากที่สุด และรูปแบบเรือนธาตุมีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ซึ่งพบเพียงไม่กี่องค์เท่านั้น เช่น เจดีย์ประธานวัดตระพังเงิน เมืองสุโขทัย
.
ส่วนยอด ประกอบด้วยส่วนที่เชื่อมต่อเหนือเรือนธาตุมีชั้นซ้อน 1 ชั้น ประดับด้วยบรรพแถลง และกลีบขนุน แล้วจึงต่อด้วยส่วนยอด คือ ส่วนองค์ระฆัง ประกอบด้วยองค์ระฆังที่เป็นทรงพุ่มคล้ายดอกบัวตูม และเหนือส่วนยอดของดอกบัวตูมทำเป็นวงแหวนซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ลักษณะเดียวกับปล้องไฉนของเจดีย์ทรงระฆังรองรับส่วนยอดสุดคือ ปลี
.
ทั้งนี้ซุ้มบรรพแถลงของเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมมักพบการประดับหน้ากาลเต็มพื้นที่ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะบรรพแถลงมีขนาดเล็กมาก และอยู่สูง เช่น เจดีย์ประธานวัดเจดีย์เจ็ดแถว
.
นอกจากนี้เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมบางกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ และเป็นเจดีย์ประธานอันสำคัญที่สุดของวัดจะมีการทำบันไดบริเวณส่วนฐานด้านทิศตะวันออกขึ้นไปถึงส่วนเรือนธาตุ
.
โดยรวมแล้วเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมมีลักษณะรูปแบบเดียวกันกับที่กล่าวถึงข้างต้น จะมีเพียงบางองค์ที่มีลักษณะแตกต่างไปคือ มีองค์ประกอบไม่ครบถ้วนตามระเบียบของเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมโดยทั่วไป เช่น ไม่มีชั้นเขียง ไม่มีชั้นแว่นฟ้า มีชั้นแว่นฟ้าเพียงชั้นเดียว หรือมีการเพิ่มชั้นฐานบัว เป็นต้น
.
ตัวอย่างเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในเมืองสุโขทัย ได้แก่ เจดีย์ประธาน วัดมหาธาตุ, เจดีย์วัดอโสการาม และเจดีย์ประธานวัดตระพังเงิน เป็นต้น
..
การกำหนดอายุโดยวิธีการเปรียบรูปแบบสถาปัตยกรรม และอ้างอิงจากอายุของวัดที่พบรูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกัน ในที่นี้จึงทำการกำหนดอายุเปรียบเทียบโดยใช้เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมเป็นสื่อกลางในการอ้างอิงระหว่างวัดเจดีย์กลางทุ่ง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร และเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมในสมัยสุโขทัย
.
1. หลักฐานทางโบราณคดีประเภทจารึก : ปรากฏจารึกวัดอโสการาม ซึ่งเป็นวัดที่ทำการขุดแต่งพบส่วนยอดของเจดีย์ลักษณะทรงยอดดอกบัวตูม โดยจารึกเป็นอักษรไทย ภาษาไทย อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรขอม ภาษาบาลี กล่าวถึงสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ พระอัครมเหสี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทรงมีพระราชศรัทธาประดิษฐานพระสถูปไว้ในวัดอโสการาม ระบุปีพุทธศักราช 1956
.
นอกจากนี้ยังพบจารึกภายในบริเวณวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย เช่น จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย พุทธศักราช 1935, จารึกเจดีย์น้อย อักษรสุโขทัย-ขอมสุโขทัย ภาษาไทย-สันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 20-21 และจารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามุณี อักษรไทยสุโขทัย-ธรรมล้านนา ภาษาไทย-บาลี พุทธศักราช 1919
.
2. หลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการดำเนินการโครงการการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย โดยการดำเนินงานของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร ทำการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ทางทิศตะวันตกของวัดตระพังเงิน เมืองสุโขทัย ขนาดหลุม 2x2 เมตร จำนวน 2 หลุม แบ่งประเภทการกำหนดอายุโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเป็น 2 ประเภท ได้แก่
.
การกำหนดอายุสมัยโดยวิธีเปรียบเทียบ
.
ชิ้นส่วนภาชนะแหล่งเตาสุโขทัย ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเขียนลายสีดำบนพื้นสีขาวลวดลายกงจักร ลายปลาในวงกลม ลายดอกไม้หรือลายพันธุ์พฤกษา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งน้ำเคลือบสีเขียวหรือสังคโลกจากแหล่งเตาสุโขทัย กำหนดอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
.
เครื่องถ้วยจีน ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีสามารถกำหนดอายุคร่าวๆได้ว่า ชิ้นที่พบว่ามีอายุเก่าสุดอยู่ในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ปลายพุทธศตวรรษที่ 17 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 18) ต่อมาคือสมัยเยวี๋ยน (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - ปลายพุทธศตวรรษที่ 19) และสมัย
ราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) นอกจากนั้นยังพบภาชนะสำริดตกแต่งผิวด้านนอก-ด้านในด้วยวิธีถมปัด อายุสมัยอยู่ในช่วงราชวงศ์หมิงราวพุทธศตวรรษที่ 22 โดยเมื่อเปรียบเทียบชั้นดินวัฒนธรรมแล้วพบว่าเศษภาชนะดินเผาที่มีอายุสมัยอยู่ในช่วงราชวงศ์หมิงเหล่านี้ อยู่ในชั้นดินที่อยู่อาศัย
สมัยสุโขทัย ร่วมสมัยกับชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินและชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งรูปทรงต่างๆ และชิ้นส่วนถ้วยชามสังคโลก
..
การกำหนดอายุสมัยโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์
จากรายงานผลการกำหนดค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS Dating ตัวอย่างถ่าน และเปลือกหอยจากการดำเนินงานการขุดค้นทางโบราณคดี โครงการวิจัยการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย ปีงบประมาณพุทธศักราช 2561 นำตัวอย่างถ่านที่พบในหลุมขุดค้นที่ 2 (TP.2) ทางทิศตะวันตกของวัดตระพังเงิน ระดับความลึกสมมติที่ 11 (160-170 cm.dt.) ไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการเร่งอนุภาคมวลสาร (AMS) มีค่าอายุอยู่ในช่วงพุทธศักราช 1690-1758 ซึ่งมีอายุเก่ากว่าสมัยสุโขทัย โดยในระดับชั้นเดียวกันนี้พบโบราณวัตถุที่มีอายุสมัยร่วมกันคือ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ กำหนดอายุโดยวิธีเปรียบเทียบราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18
..
ผลการดำเนินงานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณทิศตะวันตกของวัดตระพังเงินมี 2 ชั้นวัฒนธรรม ได้แก่ ชั้นที่อยู่อาศัยในยุคเริ่มแรกสุโขทัย และชั้นที่อยู่อาศัยสมัยสุโขทัย และจากหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวข้างต้น สันนิษฐานว่าช่วงเวลาการสร้างวัดที่ปรากฏศิลปกรรมเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมอย่างช้าที่สุดคือช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 19 - 20
.
ดังนั้นการปรากฏรูปแบบเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมที่วัดเจดีย์กลางทุ่ง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และวัดตระพังเงิน เมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากอายุสมัยแห่งการก่อสร้างวัดทั้งสองแห่งที่อยู่ร่วมสมัยกันในฐานะที่เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรสุโขทัย
..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, 2548.
นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์, ธาดา สังข์ทอง และอนันต์ ชูโชติ ; ผู้แปลภาษาอังกฤษ, นันทนา ตันติเวสสะ และ สุรพล นาถะพินธุ.
นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2519. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2542.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ในประเทศไทย : แนวคิด คติการสร้าง พัฒนาการทางรูปแบบ และการวิเคราะห์ทาง
ประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : โครงการเจดีย์ในประเทศไทย แนวคิด คติการสร้าง พัฒนาการทางรูปแบบและการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์, สนับสนุนทุนวิจัยโดย สถาบันวิจัย และพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2558.
. เจดีย์ในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการ และพลังศรัทธา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2560.
. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2561.
. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึก และศิลปกรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์สมาพันธ์, 2563.
สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ :
มติชน, 2553.
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย
ปีงบประมาณ 2561. ม.ป.ท. : โครงการการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ม.ป.ป.
การกำหนดอายุสมัยเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม วัดเจดีย์กลางทุ่ง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
.
วัดเจดีย์กลางทุ่ง ตั้งอยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร ตัววัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกไม่ปรากฏแนวกำแพงวัด แต่มีการขุดคูน้ำโดยรอบเพื่อแสดงขอบเขตวัดเรียกลักษณะนี้ว่า “อุทกสีมา” ซึ่งเป็นรูปแบบแผงผังวัดที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัย สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดประกอบด้วยวิหารก่อด้วยอิฐปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐานอาคาร ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ประธานทรงยอดดอกบัวตูม สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น จากนั้นเป็นฐานบัวที่ยืดท้องไม้สูงประดับลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกฟักเพิ่มมุมไม้ยี่สิบซ้อนกันสองชั้น (ชั้นแว่นฟ้า) ตามด้วยส่วนเรือนธาตุเพิ่มมุมไม้ยี่สิบรองรับส่วนยอดทรงดอกบัวตูม ส่วนปลีหักหาย
.
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม มีที่มาของชื่อตามลักษณะของส่วนยอดซึ่งคล้ายดอกบัวตูม และการพบเจดีย์ลักษณะเดียวกันบางองค์ ปรากฏการทำกลีบบัวประดับทรงดอกบัวตูม โดยชื่อของเจดีย์ทรงนี้เรียกกันหลายอย่างอาทิเช่น เจดีย์ทรงดอกบัวตูม ทรงทะนาน หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
.
เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมนี้ถือเป็นรูปแบบเฉพาะของสถาปัตยกรรมสุโขทัย เนื่องจากพบเจดีย์ทรงนี้อย่างแพร่หลายตามหัวเมืองต่าง ๆ หรือที่เกี่ยวข้องกับเมืองสุโขทัย มีรายละเอียดส่วนประกอบโดยรวม ดังนี้
.
ส่วนฐาน ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานหรือฐานเขียงอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3-5 ฐาน รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ (บัวคว่ำ-บัวหงาย) ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1 ฐาน ซึ่งมีลักษณะเป็นฐานบัวที่ยืดท้องไม้สูงประดับลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น
.
ส่วนกลาง ประกอบด้วยชุดฐานบัวลูกฟักซ้อนกัน 2 ฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ นิยมเรียกชุดฐานบัวทั้งสองฐานนี้ว่า “ชั้นแว่นฟ้า” ถัดขึ้นไปเป็นส่วนของเรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบเช่นเดียวกับฐาน มี 2 รูปแบบ คือ เรือนธาตุไม่มีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งพบมากที่สุด และรูปแบบเรือนธาตุมีจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ซึ่งพบเพียงไม่กี่องค์เท่านั้น เช่น เจดีย์ประธานวัดตระพังเงิน เมืองสุโขทัย
.
ส่วนยอด ประกอบด้วยส่วนที่เชื่อมต่อเหนือเรือนธาตุมีชั้นซ้อน 1 ชั้น ประดับด้วยบรรพแถลง และกลีบขนุน แล้วจึงต่อด้วยส่วนยอด คือ ส่วนองค์ระฆัง ประกอบด้วยองค์ระฆังที่เป็นทรงพุ่มคล้ายดอกบัวตูม และเหนือส่วนยอดของดอกบัวตูมทำเป็นวงแหวนซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ลักษณะเดียวกับปล้องไฉนของเจดีย์ทรงระฆังรองรับส่วนยอดสุดคือ ปลี
.
ทั้งนี้ซุ้มบรรพแถลงของเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมมักพบการประดับหน้ากาลเต็มพื้นที่ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะบรรพแถลงมีขนาดเล็กมาก และอยู่สูง เช่น เจดีย์ประธานวัดเจดีย์เจ็ดแถว
.
นอกจากนี้เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมบางกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ และเป็นเจดีย์ประธานอันสำคัญที่สุดของวัดจะมีการทำบันไดบริเวณส่วนฐานด้านทิศตะวันออกขึ้นไปถึงส่วนเรือนธาตุ
.
โดยรวมแล้วเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมมีลักษณะรูปแบบเดียวกันกับที่กล่าวถึงข้างต้น จะมีเพียงบางองค์ที่มีลักษณะแตกต่างไปคือ มีองค์ประกอบไม่ครบถ้วนตามระเบียบของเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมโดยทั่วไป เช่น ไม่มีชั้นเขียง ไม่มีชั้นแว่นฟ้า มีชั้นแว่นฟ้าเพียงชั้นเดียว หรือมีการเพิ่มชั้นฐานบัว เป็นต้น
.
ตัวอย่างเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในเมืองสุโขทัย ได้แก่ เจดีย์ประธาน วัดมหาธาตุ, เจดีย์วัดอโสการาม และเจดีย์ประธานวัดตระพังเงิน เป็นต้น
..
การกำหนดอายุโดยวิธีการเปรียบรูปแบบสถาปัตยกรรม และอ้างอิงจากอายุของวัดที่พบรูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกัน ในที่นี้จึงทำการกำหนดอายุเปรียบเทียบโดยใช้เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมเป็นสื่อกลางในการอ้างอิงระหว่างวัดเจดีย์กลางทุ่ง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร และเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมในสมัยสุโขทัย
.
1. หลักฐานทางโบราณคดีประเภทจารึก : ปรากฏจารึกวัดอโสการาม ซึ่งเป็นวัดที่ทำการขุดแต่งพบส่วนยอดของเจดีย์ลักษณะทรงยอดดอกบัวตูม โดยจารึกเป็นอักษรไทย ภาษาไทย อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรขอม ภาษาบาลี กล่าวถึงสมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ พระอัครมเหสี สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทรงมีพระราชศรัทธาประดิษฐานพระสถูปไว้ในวัดอโสการาม ระบุปีพุทธศักราช 1956
.
นอกจากนี้ยังพบจารึกภายในบริเวณวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย เช่น จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย พุทธศักราช 1935, จารึกเจดีย์น้อย อักษรสุโขทัย-ขอมสุโขทัย ภาษาไทย-สันสกฤต พุทธศตวรรษที่ 20-21 และจารึกลานทองสมเด็จพระมหาเถรจุฑามุณี อักษรไทยสุโขทัย-ธรรมล้านนา ภาษาไทย-บาลี พุทธศักราช 1919
.
2. หลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการดำเนินการโครงการการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย โดยการดำเนินงานของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร ทำการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ทางทิศตะวันตกของวัดตระพังเงิน เมืองสุโขทัย ขนาดหลุม 2x2 เมตร จำนวน 2 หลุม แบ่งประเภทการกำหนดอายุโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเป็น 2 ประเภท ได้แก่
.
การกำหนดอายุสมัยโดยวิธีเปรียบเทียบ
.
ชิ้นส่วนภาชนะแหล่งเตาสุโขทัย ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเขียนลายสีดำบนพื้นสีขาวลวดลายกงจักร ลายปลาในวงกลม ลายดอกไม้หรือลายพันธุ์พฤกษา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งน้ำเคลือบสีเขียวหรือสังคโลกจากแหล่งเตาสุโขทัย กำหนดอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
.
เครื่องถ้วยจีน ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีสามารถกำหนดอายุคร่าวๆได้ว่า ชิ้นที่พบว่ามีอายุเก่าสุดอยู่ในช่วงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ปลายพุทธศตวรรษที่ 17 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 18) ต่อมาคือสมัยเยวี๋ยน (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 - ปลายพุทธศตวรรษที่ 19) และสมัย
ราชวงศ์หมิง (พ.ศ.1911-2187) นอกจากนั้นยังพบภาชนะสำริดตกแต่งผิวด้านนอก-ด้านในด้วยวิธีถมปัด อายุสมัยอยู่ในช่วงราชวงศ์หมิงราวพุทธศตวรรษที่ 22 โดยเมื่อเปรียบเทียบชั้นดินวัฒนธรรมแล้วพบว่าเศษภาชนะดินเผาที่มีอายุสมัยอยู่ในช่วงราชวงศ์หมิงเหล่านี้ อยู่ในชั้นดินที่อยู่อาศัย
สมัยสุโขทัย ร่วมสมัยกับชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินและชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งรูปทรงต่างๆ และชิ้นส่วนถ้วยชามสังคโลก
..
การกำหนดอายุสมัยโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์
จากรายงานผลการกำหนดค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS Dating ตัวอย่างถ่าน และเปลือกหอยจากการดำเนินงานการขุดค้นทางโบราณคดี โครงการวิจัยการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย ปีงบประมาณพุทธศักราช 2561 นำตัวอย่างถ่านที่พบในหลุมขุดค้นที่ 2 (TP.2) ทางทิศตะวันตกของวัดตระพังเงิน ระดับความลึกสมมติที่ 11 (160-170 cm.dt.) ไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการเร่งอนุภาคมวลสาร (AMS) มีค่าอายุอยู่ในช่วงพุทธศักราช 1690-1758 ซึ่งมีอายุเก่ากว่าสมัยสุโขทัย โดยในระดับชั้นเดียวกันนี้พบโบราณวัตถุที่มีอายุสมัยร่วมกันคือ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ กำหนดอายุโดยวิธีเปรียบเทียบราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18
..
ผลการดำเนินงานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณทิศตะวันตกของวัดตระพังเงินมี 2 ชั้นวัฒนธรรม ได้แก่ ชั้นที่อยู่อาศัยในยุคเริ่มแรกสุโขทัย และชั้นที่อยู่อาศัยสมัยสุโขทัย และจากหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวข้างต้น สันนิษฐานว่าช่วงเวลาการสร้างวัดที่ปรากฏศิลปกรรมเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมอย่างช้าที่สุดคือช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 19 - 20
.
ดังนั้นการปรากฏรูปแบบเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมที่วัดเจดีย์กลางทุ่ง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และวัดตระพังเงิน เมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากอายุสมัยแห่งการก่อสร้างวัดทั้งสองแห่งที่อยู่ร่วมสมัยกันในฐานะที่เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรสุโขทัย
..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, 2548.
นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์, ธาดา สังข์ทอง และอนันต์ ชูโชติ ; ผู้แปลภาษาอังกฤษ, นันทนา ตันติเวสสะ และ สุรพล นาถะพินธุ.
นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2519. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์, 2542.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ในประเทศไทย : แนวคิด คติการสร้าง พัฒนาการทางรูปแบบ และการวิเคราะห์ทาง
ประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : โครงการเจดีย์ในประเทศไทย แนวคิด คติการสร้าง พัฒนาการทางรูปแบบและการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์, สนับสนุนทุนวิจัยโดย สถาบันวิจัย และพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2558.
. เจดีย์ในประเทศไทย : รูปแบบ พัฒนาการ และพลังศรัทธา. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2560.
. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2561.
. ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึก และศิลปกรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์สมาพันธ์, 2563.
สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ :
มติชน, 2553.
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย. การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย
ปีงบประมาณ 2561. ม.ป.ท. : โครงการการศึกษาทางโบราณคดีเพื่อจัดลำดับอายุสมัยของแหล่งศิลปกรรมเมืองสุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, ม.ป.ป.
(จำนวนผู้เข้าชม 651 ครั้ง)