...

ภาพปูนปั้นปางประสูติ ณ วัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร
เรื่อง ภาพปูนปั้นปางประสูติ ณ วัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร
ภาพปูนปั้น คือรูปแบบหนึ่งของงานศิลปกรรมไทยที่ใช้ปูนหมักปูนตำ ที่เกิดจากการรวมส่วน ประกอบหลัก คือ ปูน ทรายน้ำจืด เส้นใยธรรมชาติและกาว มาผสมผสานรวมกันจนเป็นเนื้อเดียวแล้วนำมาปั้นแปะกับผนังที่เป็นพื้นเรียบให้เกิดเป็นรูปทรงและลวดลายเพื่อใช้ในการประดับตกแต่งอาคารและส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ อาคารที่สร้างเนื่องในทางพระพุทธศาสนามักมีความนิยมประดับตกแต่งด้วยภาพปูนปั้นแบบนูนต่ำในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร เช่น ซุ้มประตู หน้าบันผนังอาคาร เป็นต้น ลักษณะของภาพปูนปั้นมักทำเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา สัตว์ และรูปบุคคลที่ใช้เล่าเรื่องราวทางศาสนา เช่น พระพุทธประวัติ ชาดก และวรรณคดีที่นิยมในท้องถิ่นนั้น ๆ  
วัดช้างรอบ เป็นโบราณสถานตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรัง นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร เจดีย์ประธานของวัดประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่เพื่อใช้ขึ้นไปถึงลานด้านบน ส่วนของผนังฐานสี่เหลี่ยมของเจดีย์ประธานประดับประติมากรรมรูปช้างปูนปั้น จำนวน ๖๘ เชือก ในอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่นิยมสร้างเจดีย์ทรงระฆังที่มีการประดับประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบส่วนของฐานเจดีย์ ประติมากรรมรูปช้างมีการประดับลวดลายปูนปั้นที่บริเวณแผงคอ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับลายชายผ้าของเทวรูปพระอิศวรสำริด ที่พบยังเมืองกำแพงเพชรและมีจารึกที่ระบุการสร้างในปี พ.ศ. ๒๐๕๓ รวมทั้งจากหลักฐานโบราณวัตถุที่พบประเภทกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาชนิดกระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวและลายเทพพนม สามารถกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรม(Comparative dating) ได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ –๒๒
ส่วนของเจดีย์ที่อยู่เหนือชั้นฐานประทักษิณคงเหลือเฉพาะชั้นหน้ากระดานแปดเหลี่ยมและชั้นหน้ากระดานกลม ที่ชั้นหน้ากระดานกลมเหนือฐานแปดเหลี่ยมมีการประดับด้วยประติมากรรมดินเผารูปหงส์เหนือขึ้นไปมีช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบองค์เจดีย์ จำนวน ๔๔ ช่อง ขนาดความกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ความยาว ๙๐ เซนติเมตร และในช่องรอบองค์เจดีย์แต่ละช่องนั้น มีการประดับภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพระพุทธประวัติในลักษณะการเรียงลำดับเหตุการณ์จากด้านทิศเหนือของเจดีย์เวียนขวารอบฐานเจดีย์ภาพปูนปั้นเหล่านี้มีลักษณะพิเศษคือการใช้สีดำร่างลายเส้นรูปภาพก่อน แล้วจึงใช้ปูนปั้นทับลายเส้นสีดำภายหลัง
ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพระพุทธประวัติ เหตุการณ์ตอนประสูติเจ้าชายสิทธัตถะเป็นช่องลำดับเหตุการณ์ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของเจดีย์ประธานปรากฏเป็นรูปบุคคลยืนอยู่บนดอกไม้ มือขวายกขึ้น มือซ้ายห้อยลงข้างลำตัว ส่วนของพระเศียรกะเทาะหายไป แต่ยังคงปรากฏลายเส้นของรัศมีรอบพระเศียร สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธประวัติเหตุการณ์ตอนที่ พระนางสิริมหามายาผู้เป็นพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ขณะที่ทรงเดินทางไปยังแผ่นดินเกิด คือ กรุงเทวทหะ ในระหว่างทางได้มีพระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ ณ สวนลุมพินีวัน ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ โดยทรงอยู่ในอิริยาบถยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ในพระหัตถ์ขวาส่วนเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติแล้ว ได้ทรงก้าวย่างพระบาทและยืนอยู่บนดอกบัว
หนังสือพระปฐมสมโพธิ ฉบับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ปริเฉทที่ ๓คัดภานิกขมนปริวรรต ได้ระบุถึงเหตุการณ์หลังการประสูติของพระโพธิสัตว์ว่าพระราชกุมารได้ประทับยืนผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือและก้าวย่างพระบาทไป ๗ ก้าว ซึ่งในทุกก้าวก็ได้มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาท เมื่อพระราชกุมารทรงเดินครบ ๗ ก้าว ก็ได้เปล่งวาจาออกมาว่า “...ในโลกนี้เราเป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุดการเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้ายภพใหม่ต่อไปไม่มี…”
นิทานกถา พระพุทธประวัติตอนต้น ฉบับพระพุทธโฆสเถระ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้แปลและเรียบเรียง ได้ระบุว่า“...พระโพธิสัตว์เสด็จประทับยืนเหนือพื้นปฐพีทรงทอดพระเนตรไปยังทิศบูรพาจักรวาฬมากมายหลายพันก็รวมเป็นเนินเนื่องถึงกันเป็นอันเดียว...พระโพธิสัตว์ทรงตรวจดูไปตามทิศทั้ง ๑๐คือทิศใหญ่ ๔และทิศน้อย ๔ทิศเบื้องล่าง ๑ทิศเบื้องบน ๑ไม่ทรงเห็นผู้ที่เสมอด้วยพระองค์จึงทรงกำหนดว่าทิศนี้เป็นทิศเหนือแล้วทรงดำเนินไปด้วยย่างพระบาท ๗ ก้าวมีท้าวมหาพรหมเชิญเศวตฉัตรสุยามเทพบุตรเชิญวาลวีชนีและเทวดาอื่นๆถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์นอกนั้นดำเนินตามครั้นแล้วพระโพธิสัตว์ประทับยืนอยู่ในก้าวที่ ๗ทรงเปล่งพระอาสภิวาจา(คำของผู้สูงสุด) บันลือสีหนาทว่าข้าพเจ้าเป็นยอดคนของโลกดังนี้เป็นอาทิ….”
เรื่องราวในพระพุทธประวัติตอนประสูติเจ้าชายสิทธัตถะได้ปรากฏเช่นกันในงานศิลปกรรม ตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ หน้าบันของเจดีย์บริวารด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย โดยเป็นการประดับภาพปูนปั้นรูปบุคคลที่เป็นเพศหญิง จำนวน ๔ คน ในอิริยาบถยืน โดยหนึ่งในบุคคลดังกล่าวได้มีการยกมือขวาขึ้นเหนี่ยวกิ่งไม้และมีผู้ที่คอยประคองอยู่ด้านข้าง สันนิษฐานว่าเป็นรูปของพระนางสิริมหามายาขณะที่มีพระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งในส่วนของรูปปูนปั้นของเจ้าชายสิทธัตถะน่าจะอยู่ตรงกลางภาพที่ได้หลุดกะเทาะหายไป
งานจิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรุงเทพฯ ได้ปรากฏเรื่องราวในพระพุทธประวัติตอนประสูติเจ้าชายสิทธัตถะในรูปของพระนางสิริมหามายา ทรงยกมือขึ้นคว้าเหนี่ยวกิ่งไม้และประทับยืนแวดล้อมไปด้วยเหล่าข้าราชบริพาร ส่วนของรูปของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติแล้วทรงยืนโดยมีพระพรหมและพระอินทร์ขนาบด้านข้าง
งานประติมากรรมเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ณ ลุมพินีวัน กรมพระราชพิธีส่งมอบให้พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔เป็นงานประติมากรรมรูปของพระนางสิริมหามายา ทรงยกมือขวาขึ้นเหนี่ยวกิ่งไม้ และเจ้าชายสิทธัตถะทรงยืนโดยมีเทวดานั่งคุกเข่าอยู่สองข้าง
ภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพระพุทธประวัติ เหตุการณ์ตอนประสูติเจ้าชายสิทธัตถะณ วัดช้างรอบจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเมืองกำแพงเพชรมีคติความเชื่อในเรื่องราวของพระพุทธศาสนา และสืบทอดความศรัทธานั้น ผ่านงานศิลปกรรมอันงดงามและภูมิปัญญาของช่างโบราณ เป็นประจักษ์พยานให้ยังคงปรากฏในปัจจุบัน.
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. จิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์.นครปฐม: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๗.
กรมศิลปากร. นิทานกถา พระพุทธประวัติตอนต้น ฉบับพระพุทธโฆสเถระ นายธนิต อยู่โพธิ์ แปลและเรียบเรียง. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.สัมพันธ์พาณิชย์ บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๓๐.
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑.
กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ.นครปฐม: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๘.
กรมศิลปากร. รายงาน องค์ความรู้ เรื่อง การปั้นปูนในงานสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ, ๒๕๕๕.
ประทีป  เพ็งตะโก. “กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๐.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรม ศัพท์ศิลปกรรมไทย.นนทบุรี: บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด, ๒๕๕๙.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. พระปฐมสมโพธิกถา. กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๐๕.
อนันต์  ชูโชติ. “เจดีย์วัดช้างรอบ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร.” สาระนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๒๓.








































(จำนวนผู้เข้าชม 1755 ครั้ง)


Messenger