ถ้ำฝ่ามือแดง
องค์ความรู้ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
“ถ้ำฝ่ามือแดง” แหล่งภาพเขียนสีพบใหม่ ในตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
แหล่งภาพเขียนสีที่พบใหม่ชาวบ้านเรียกกันในชื่อ “ถ้ำฝ่ามือแดง” ตั้งอยู่บริเวณบ้านห้วยเหว่อ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากชายแดนไทย-ลาวประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ เมตร สภาพพื้นที่เป็นลานหินทรายสลับสูงต่ำ บริเวณที่พบภาพเขียนสีมีลักษณะเป็นหินทรายขนาดใหญ่ วางซ้อนทับกัน ขนาดเพิงหินยาว ๑๐.๓๐ เมตร สูง ๒.๔๑ เมตร วางตัวยาวในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก หันหน้าไปทางทิศใต้ บริเวณด้านทิศใต้ของเพิงหินเป็นจุดที่พบภาพเขียนสี
ภาพเขียนสีที่พบนั้นแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มตามตำแหน่งที่พบ
กลุ่มที่ ๑ บริเวณผนังเพิงหินด้านนอก พบภาพเขียนสีจำนวน ๖ ภาพ ประกอบด้วยภาพสัตว์และภาพมือ เขียนด้วยสีแดงน้ำหมาก มีการใช้เทคนิคการเขียนสีหลายรูปแบบ เช่น การระบายทึบ การเขียนเฉพาะเส้นกรอบ การเขียนเส้นกรอบแล้วระบายทึบ และการทาสีลงบนฝ่ามือแล้ววางทาบลงไปบนแผ่นหิน
กลุ่มที่ ๒ บริเวณผนังเพิงหินด้านใน ทิศตะวันตก พบภาพเขียนสีจำนวน ๔ ภาพ เป็นภาพสัตว์ ภาพมือ และบางภาพยังไม่สามารถจัดจำแนกได้ว่าเป็นภาพอะไร เขียนด้วยสีแดงน้ำหมาก ใช้เทคนิคแบบระบายทึบและการทาสีลงบนฝ่ามือแล้วทาบลงบนแผ่นหิน
กลุ่มที่ ๓ บริเวณผนังหินด้านใน ทิศตะวันออก พบภาพเขียนสีจำนวน ๔ ภาพ วาดเป็นรูปสัตว์ บางภาพไม่สามารถจัดจำแนกได้ เขียนสีด้วยสีแดงน้ำหมาก ใช้เทคนิคการระบายทึบ การเขียนเส้นกรอบแล้วระบายทึบ
จากการศึกษาพบว่าการเขียน “ภาพสัตว์” เป็นภาพที่พบมากที่สุด โดยพบถึง ๙ ภาพจากทั้งหมด ๑๔ ภาพ ส่วนภาพมือนั้นพบเป็นจำนวน ๒ ภาพ อีก ๓ ภาพ ไม่สามารถจัดจำแนกได้ว่าเป็นภาพอะไร
โดยทั่วไปรูปแบบภาพเขียนสีสามารถจัดจำแนกได้ออกได้หลายรูปแบบ เช่น ภาพเสมือนจริงเลียนแบบธรรมชาติ (the naturalistically imitative form expression) ภาพนามธรรม (abstract) ภาพคตินิยม (idealism) และภาพสัญลักษณ์ (symbol)สำหรับภาพเขียนสีที่พบที่แหล่งโบราณคดีนี้จัดเป็นกลุ่มภาพเสมือนจริง วาดภาพเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ภาพสัตว์ และภาพสัญลักษณ์ เช่น ภาพมือ สำหรับการแปลความภาพเขียนสีนั้นยังไม่สรุปความหมายได้อย่างแน่ชัด แต่อาจกล่าวได้ว่าการพบภาพสัตว์อาจสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมในอดีตของพื้นที่บริเวณนี้ ที่จะพบสัตว์เหล่านี้ได้ ส่วนภาพมือนั้นน่าจะเป็นสัญลักษณ์แทนตัวคนในอดีต ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าตำแหน่งที่พบภาพมือนั้นจะประทับใกล้กับภาพสัตว์ ซึ่งคล้ายกับภาพมือที่พบที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่จะประทับไว้กับภาพสัตว์ขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งอาจมีความหมายสื่อถึงพิธีกรรมการล่าสัตว์หรือจับสัตว์
จากลักษณะภาพเขียนสี อาจกำหนดอายุเชิงเทียบในเบื้องต้นได้ว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว ๓,๐๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
สุดท้ายนี้ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี ขอขอบคุณ นายสุรศักดิ์ เมืองสุข กรรมการหมู่บ้านห้วยเหว่อ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ที่ประสานแจ้งข้อมูลการค้นพบ และขอขอบคุณอำเภอสิรินธร ที่กรุณาอำนวยความสะดวก ในการประสานงานเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งผู้นำชุมชน ในการร่วมสำรวจและนำทาง จนทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปโดยความสำเร็จเรียบร้อย
ผู้เรียบเรียง: นางสาวกัญญาภัค โต๊ะเฮ็ง นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
เอกสารอ้างอิง
พเยาว์ เข็มนาค. “ศิลปะถ้ำในอุบลราชธานี” ประวัติศาสตร์และโบราณคดีอุบลราชธานี เอกสารการ สัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอุบลราชธานี ๒๖-๒๘ กันยายน ๒๕๓๑ ณ หอประชุม อาการหอสมุด วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. ม.ป.ท., ๒๕๓๑.
ศิลปากร, กรม, กองโบราณคดี. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๙.
ศิลปากร, กรม. รายงานสำรวจแหล่งภาพเขียนสีที่ อ.โขงเจียม อ.ศรีเมืองใหม่ กิ่งอ.โพธิ์ไทรจ.อุบลราชธานี. โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กองโบราณคดี, ๒๕๒๖.
ศิลปากร,กรม, สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี (เล่ม ๑ : จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร จังหวัดมุกดาหาร).อุบลราชธานี: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์, ๒๕๖๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 996 ครั้ง)