เรื่อง “โคนนทิ” เทพพาหนะพระศิวเทพ ปราสาทกู่กาสิงห์
องค์ความรู้ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
เรื่อง “โคนนทิ” เทพพาหนะพระศิวเทพ ปราสาทกู่กาสิงห์
ปราสาทกู่กาสิงห์ ตั้งอยู่บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ ปราสาท ๓ หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน เรียงในแนวเหนือ – ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทหลังกลางมีมณฑปยื่นออกไปทางด้านหน้า ภายในมณฑปประดิษฐานประติมากรรมโคสลักจากหินทรายสีแดงหมอบอยู่ ประติมากรรมดังกล่าวคือ “โคนนทิ” (Nandi) หรือ โคอุศุภราช ซึ่งพบจากการขุดแต่งบูรณะในช่วงปี ๒๕๓๓ – ๒๕๓๕
ลักษณะของโคนนทิที่ขุดพบ เป็นโคนั่งหมอบอยู่บนฐานเตี้ยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขาหน้าพับงออยู่ใต้ลำตัว ส่วนหางและขาหลังพับไปทางด้านขวา บนหลังมีโหนกสูง ที่คอมีเครื่องประดับสลักเป็นลายลูกประคำเรียงกัน ๓ แถว เป็นแผงสวยงาม ส่วนหัวชำรุดหักหายไป นับเป็นประติมากรรมนนทิในศิลปะขอมอายุนับพันปีที่พบเพียงแห่งเดียวในจังหวัดร้อยเอ็ด และพบเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย
ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ได้กล่าวถึงการกำเนิดนนทิไว้ว่า เมื่อครั้งการกวนเกษียรสมุทรระหว่างเทวดาและอสูร ก่อนที่หม้อน้ำอมฤตจะผุดขึ้นมานั้น ได้เกิดของวิเศษหลายอย่าง เช่น นางอัปสร ช้างเอราวัณ ดวงจันทร์ โคสุรภี หริธนู เป็นต้น โดยช้างเอราวัณพระอินทร์ได้นำไปเป็นเทพพาหนะ ในส่วนของโคสุรภีพระศิวะปรารถนาจะนำไปเป็นเทพพาหนะเช่นกันแต่ติดที่เป็นเพศเมีย พระกัศยปะจึงอาสาแปลงเป็นโคเพศผู้ไปผสมพันธุ์กับนางโคสุรภีจนตั้งครรภ์ และได้ให้กำเนิดโคเผือก (สีขาว) เพศผู้ นามว่า “นนทิ” จากนั้นได้นำบุตรของตนไปถวายเป็นเทพพาหนะของพระศิวะ
บรรดาปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมที่สร้างถวายพระศิวะนอกจากพบศิวลึงค์ซึ่งประดิษฐานเป็นประธานในเทวาลัยแล้ว บางแห่งพบประติมากรรมโคนนทิด้วย เช่น ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ดังนั้น การพบโคนนทิที่ปราสาทกู่กาสิงห์จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะเช่นกัน นับเป็นปราสาทที่งดงามด้วยรูปแบบศิลปะและคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ - โบราณคดี หากท่านใดมีโอกาสผ่านมาที่จังหวัดร้อยเอ็ดอย่าลืมแวะมาชมปราสาทกู่กาสิงห์ และโคนนทิอายุนับพันปีนะครับ
ผู้เรียบเรียง: นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
เอกสารอ้างอิง:
กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ร้อยเอ็ด. อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด. ร้อยเอ็ด: กรมศิลปากร, ๒๕๔๗.
กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการขุดแต่งปราสาทกู่กาสิงห์. นครราชสีมา: หน่วยศิลปากรที่ ๖, ๒๕๓๓.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี. รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถานกู่กาสิงห์. อุบลราชธานี: สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๘ อุบลราชธานี, ๒๕๔๑.
(จำนวนผู้เข้าชม 600 ครั้ง)