ค้นพบแหล่งภาพเขียนสีแห่งใหม่ ลานหินทองคำ ภูถ้ำพระวัดถ้ำไฮ
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายอธิยุตชัย ป้องภัย (อายุ ๔๖ ปี) นักจัดรายการวิทยุ ได้สังเกตพบรอยฝ่ามือและภาพเขียนต่างๆบนก้อนหินขนาดใหญ่ จึงได้แจ้งทางอำเภอโพธิ์ไทร และ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔
----- แหล่งภาพเขียนสีแห่งใหม่ตั้งอยู่ที่ บ้านกะลึง หมู่ ๖ ตำบลสารภี อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านเรียกบริเวณที่พบภาพเขียนสีนี้ว่า “ลานหินทองคำ ภูถ้ำพระวัดถ้ำไฮ”
----- บริเวณที่พบภาพเขียนสีมีสภาพเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๑๑.๖ เมตร ยาวประมาณ ๒๑.๕ เมตร สูงประมาณ ๔ เมตร พบภาพเขียนสีทั้งบนผนังและเพดานของเพิงผา ภาพที่พบเขียนด้วยสีแดงแบบน้ำหมาก โดยสามารถแบ่งกลุ่มภาพออกได้สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มภาพทางด้านทิศเหนือของเพิงหิน และ กลุ่มภาพทางด้านทิศใต้ของเพิงหิน สภาพของภาพเขียนสีส่วนใหญ่ลบเลือนไปค่อนข้างมาก บางจุดยากแก่การสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า
----- ภาพเขียนสีทั้งหมดที่พบ สามารถจำแนกออกได้ ๓ ประเภทหลักๆ ได้แก่ รอยฝ่ามือ ภาพคน และภาพลายเส้น โดยแหล่งภาพเขียนสีบ้านกะลึงแห่งนี้ พบรอยฝ่ามือทั้งหมดจำนวน ๒๒ มือ แบ่งออกเป็นมือข้างซ้าย จำนวน ๓ มือ มือข้างขวาจำนวน ๑๒ มือ และไม่สามารถระบุข้างได้จำนวน ๗ มือ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นมือเด็กข้างขวาจำนวน ๒ มือ และมือเด็กข้างซ้ายจำนวน ๑ มือ พบภาพคนทั้งหมดจำนวน ๙ คน เขียนแบบลักษณะเงาทึบ ให้เห็นแต่ด้านหน้าตรง ไม่เห็นตา จมูก ปาก ส่วนแขนและขากางออกจากลำตัว ยืนทำท่าทางในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ส่วนภาพลายเส้นที่พบเป็นภาพแบบคตินิยม (Idealism) ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เป็นธรรมชาติ ยากแก่การแปลความหมาย เช่น ลายเส้นซิกแซก (Zigzag) ลายเส้นคู่ขนานไขว้ตัดกัน ลายเส้นเรขาคณิต ลายจุดไข่ปลา (เส้นประ) และกลุ่มลายเส้นที่ไม่สามารถระบุลวดลายที่แน่ชัดได้ จากลักษณะภาพเขียนสีและบริบทสภาพแวดล้อมที่พบ สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าภาพเขียนสีแห่งนี้อยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
----- ภาพเขียนสีเหล่านี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการมีตัวตนของคนในอดีตแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของคนในสมัยโบราณว่าอยู่กันเป็นกลุ่ม และการแสดงถึงรูปแบบความเชื่อภายในกลุ่มสังคม เช่น การประทับรอยฝ่ามือลงบนหิน นอกจากจะเป็นการแสดงตนเชิงสัญลักษณ์แล้ว อาจมีความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องโชคลางและสุขภาพ จึงทำให้พบทั้งรอยฝ่ามือเด็กและฝ่ามือผู้ใหญ่ เป็นต้น ดังนั้นภาพเขียนสีจึงเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกประเภทหนึ่ง
ข้อมูล : นางสาวศุภภัสสร หิรัญเตียรณกุล นักโบราณคดีชำนาญการ
(จำนวนผู้เข้าชม 2850 ครั้ง)