วัดบ้านยางช้า
วัดบ้านยางช้า ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านยางช้า ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีกลุ่มคนไทย-ลาว ได้มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณนี้มาตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ หรือประมาณ ๑๕๐ ปีมาแล้ว มีสิ่งสำคัญคือ อุโบสถ (สิม)
. อุโบสถ (สิม) วัดบ้านยางช้าเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน เจ้าอาวาสเพ็ง กันยวิมล ขณะบวชอยู่ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๐– ๒๔๗๕ ได้พาคณะผู้มีจิตศรัทธาร่วมมือกันก่อสร้างและลงมือเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง อีกด้วยมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางยาวตามแนวทิศเหนือ–ทิศใต้ กว้างประมาณ ๗.๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๐.๘๐ เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ชุดฐานเอวขันค่อนข้างสูง ที่มุมฐานล่างตกแต่งด้วยกาบบัวงอน ส่วนหลังคาซ้อนกันสองชั้นเดิมมุงด้วยแป้นเกล็ดไม้ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นสังกะสีตามยุคสมัย มีบันไดขึ้นด้านหน้าทางทิศเหนือ ราวบันไดมีปูนปั้นรูปจระเข้หมอบห้อยหัวลงต่อด้วยสิงห์ในท่ายืน ห้องมุขหน้าโล่ง ตกแต่งด้วยแผงรวงผึ้งแกะสลักลวดลายเป็นลายก้านขด คันทวยทำด้วยไม้แกะสลักเป็นแบบคันทวยหูช้าง ลายเป็นตัวเหงา ถัดเข้าไปภายในอุโบสถแบ่งเป็น ๓ ห้อง ผนังในสุดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยบนฐานชุกชี ทำช่องหน้าต่างข้างละ ๓ ช่อง พร้อมกรอบบานทำด้วยไม้ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ผนังมุขหน้าประตูทางเข้า และผนังภายในทั้ง ๔ ด้าน เขียนภาพพุทธประวัติและพระเวชสันดรชาดก ด้วยสีฝุ่น สีคราม ดำ น้ำตาล และเหลือง สิมได้รับการบูรณะซ่อมแซม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยกรมศิลปากร มีการบูรณะเพื่อเสริมความมั่นคง ฐานราก เสา ผนังกะเทาะฉาบใหม่บางจุด ซ่อมเสริมชุดเครื่องหลังคาช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ อนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง เปลี่ยนเครื่องหลังคาและวัสดุมุงเป็นสังกะสี
. กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๓๑ ง หน้า ๒ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๕ มีเขตพื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓ งาน ๓๓ ตารางวา
------------------------------
+++อ้างอิงจาก+++
. คันฉาย มีระหงส์. รายงานผลการตรวจสอบโบราณสถานวัดบ้านยางช้า. (เอกสารอัดสำเนา), กลุ่มอนุรักษ์
โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี, ๒๕๖๑.
. สิริพัฒน์ บุญใหญ่, บรรณาธิการ. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ.
สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี, ๒๕๕๙. หน้า ๑๒๗
. สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี. โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
(เล่ม ๑ : จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร จังหวัดมุกดาหาร). อุบลราชธานี : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์, ๒๕๖๓.
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
(จำนวนผู้เข้าชม 1348 ครั้ง)