...

วัดบ้านนาควาย
วัดบ้านนาควาย ตั้งอยู่ที่ถนนสุขาสงเคราะห์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นหลังจากก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ประมาณกลางพุทธศตวรรษ ๒๔ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยมีสิ่งสำคัญ คือ อุโบสถ (สิม) วัดบ้านนาควาย
. อุโบสถ (สิม) วัดบ้านนาควาย สร้างขึ้นในสมัยญาคูทา เป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ ๒ มีรูปแบบเป็นสิมทึบแบบพื้นถิ่นอีสาน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งบนฐานบัว (ฐานเอวขัน) ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าอาคารไปทางทิศตะวันออก ขนาด ๔ ห้อง ห้องหน้าเป็นโถง มีบันไดทางขึ้นตอนกลางด้านหน้า โครงสร้างอาคารใช้เสาไม้กลมและผนังรับน้ำหนักหลังคาจั่ว มีพาไลด้านหน้ามุงสังกะสีเพื่อคลุมบันไดทางขึ้น น่าจะทำในชั้นหลัง ส่วนหลังคาจั่วมุงกระเบื้องเคลือบ หลังคาประดับช่อฟ้า (โหง่) ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันตีไม้ในแนวตั้งตกแต่งด้วยไม้ระแนงที่ตีเป็นแนวทะแยง ๒ เส้น และตรงกลาง ๑ เส้น มีประตูทางเข้าด้านหน้า ๑ ช่อง มีหน้าต่างด้านละ ๑ ช่องในตอนกลางของผนัง ด้านหลังก่อทึบ คันทวยไม้รูปเสาแบบบัวตัดให้เห็นโครงสร้างเพียงครึ่งเดียว ผนังด้านนอกเฉพาะด้านทิศตะวันออกเขียนภาพตอนมารผจญ ผนังด้านในทั้ง ๔ ด้าน เขียนภาพตอนประสูติ ปรินิพพาน ภาพชาดกเรื่องปาจิตต์กุมารชาดก และมหาเวสสันดรชาดก นอกจากนี้ยังสอดแทรกภาพสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานที่มีชาวจีน แขก ฝรั่งร่วมอยู่ในสังคมเดียวกันอีกด้วย โดยใช้สีแดง เขียว ตัดเส้นด้วยสีดำบนพื้นขาว โบราณสถานสิมวัดบ้านนาควายได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดใน พ.ศ. ๒๕๕๔
. กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดพื้นที่โบราณสถานสิมวัดบ้านนาควาย ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๘๕ง วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑ ไร่ ๖๙ ตารางวา
---------------------------------------
++++อ้างอิงจาก++++
. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์
และภูมิปัญญาจังหวัดอุบลราชธานี. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน โอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, ๒๕๔๔.หน้า ๑๓๖
. สำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี. รายงานการบูรณะอุโบสถ (สิม) วัดบ้านนาควาย ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี. เอกสารอัดสำเนา, ๒๕๕๔.
ข้อมูล : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี

(จำนวนผู้เข้าชม 1789 ครั้ง)


Messenger